แพทย์แผนจีนมีคำเตือนว่า อารมณ์เจ็ดบาดเจ็บภายใน (七情内伤 อ่านว่า ชีฉิงเน่ยซาง) ขยายความได้ว่า โกรธ (怒 นู่) ทำร้ายตับ, ดีใจ (喜 สี่) ทำร้ายหัวใจ, เศร้า (悲 เปย) และ กังวล (忧 โยว) ทำร้ายปอด, กลุ้ม (思 ซือ) ทำร้ายม้าม, ตกใจ (惊 จิง) และกลัว (恐 ข่ง) ทำร้ายไต ครั้นอธิบายด้วยการแพทย์ปัจจุบันก็คือ อารมณ์สามารถส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด ได้แก่ อะดรีนาลีน และคอร์ติซอล ออกมา ซึ่งถ้ามีการหลั่งสารดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน นานเป็นเดือนเป็นปี ก็จะส่งผลเสียโดยตรงต่อหน้าที่การทำงานของสมอง ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งโครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูก จนเกิดเป็นความผิดปกติและโรคร้ายนานัปการ (รูปที่ 1) ซึ่งโรคร้ายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด จำเป็นต้องรับการรักษาหรือรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
ทว่าในช่วงปี ค.ศ. 2004-2012 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ริเริ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ‘ชินรินโยกุ’ (森林浴) หรือการอาบป่า (Forest Bathing) เพื่อกระตุ้นประชาชนให้ออกไปเที่ยวป่า และใช้เงิน 4 ล้านดอลลาร์สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยถึงผลดีของการอาบป่าที่มีต่อสุขภาพของคนเรา ต่อมาบรรดานักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้รายงานการค้นพบว่า ต้นไม้มีพลังอันน่าพิศวง 3 ประการที่ทำให้สุขภาพดีขึ้นหลังจากอาบป่า
ประการแรก ต้นไม้ฟื้นคืนพลังให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันในตัวเรา ทั้งนี้เพราะต้นไม้มีการผลิตน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่าไฟตอนไซด์ (Phytoncide) ออกมา เมื่อเรารับสารมหัศจรรย์นี้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางลมหายใจ มันจะเข้าไปลดคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดความดันโลหิต ความวิตกกังวล ความสับสน ปรับปรุงการนอนหลับ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังมีการพบอีกว่า มันยังทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เซลล์เพชฌฆาต (Natural Killer Cells) ซึ่งทำหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็งได้สูงกว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวอื่นๆ ถึง 100 เท่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ1
ประการที่สอง ต้นไม้ช่วยกำจัดพลังพิฆาตที่ไหลเวียนในตัวเรา พลังพิฆาตนี้ก็คืออนุมูลอิสระซึ่งเป็นประจุไฟฟ้าบวกที่เป็นตัวการใหญ่ของการทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ จากข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้จะปลดปล่อยออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบอ่อนๆ ออกมา เมื่อเราได้มาสูดหายใจเอาออกซิเจนรอบๆ ต้นไม้เข้าปอดสู่กระแสเลือด ประจุไฟฟ้าลบของออกซิเจนจะเข้าไปจับกับประจุไฟฟ้าบวกของอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดสภาวะเป็นกลาง2
ประการที่สาม ต้นไม้มีบริวารที่สามารถปกป้องเราให้ปลอดพ้นจากการอักเสบ (Inflammation) บริวารที่ว่านี้คือจุลชีพที่อาศัยในดินที่มีต้นไม้แผ่รากชอนไช ดังนั้น การอยู่ใกล้ หายใจ หรือสัมผัสต้นไม้ จะเกิดการรับจุลชีพดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในเรื่องนี้ ดร. คริสโตเฟอร์ โลวรี (Christopher Lowry) แห่งมหาวิทยาลัย Bristol รายงานว่า ไมโคแบคทีเรียม วัคเคีย (Mycobacterium vaccae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ชอบอาศัยอยู่ในดิน เมื่อเข้าไปในร่างกายมนุษย์ พวกมันจะปลดปล่อยกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เรียกว่า 10(Z)-hexadecenoic acid ออกมายับยั้งกระบวนการอักเสบ ที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์ในร่างกาย ทั้งนี้ การอักเสบที่ต่อเนื่องยาวนานจะทำให้เซลล์บริเวณนั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด3
การค้นพบพลังต้นไม้ทั้ง 3 ประการดังกล่าวนี้ คงให้ความกระจ่างแก่ผู้ที่สงสัยว่า เหตุใดการฝึกชี่กงในท่า ‘รับพลังจากต้นไม้’ ตามที่ได้นำเสนอในบทความตอนที่แล้ว จึงเป็นวิธีเพิ่มเติมเจินชี่ (真气 หรือชี่แท้) ที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคให้แก่ผู้ฝึกได้ แต่มีข้อแม้ที่ขอกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ว่า ต้นไม้ที่จะใช้ฝึกนั้น ต้องมีคุณสมบัติตามที่อาจารย์หยาง เผยเซิน ระบุไว้คือ ต้องสูงใหญ่ แข็งแรง มีกิ่งก้านสมบูรณ์ ยิ่งต้นไม้นั้นอายุยืนก็จะยิ่งอุดมด้วยแก่นสารที่มีประโยชน์ ทั้งนี้ การที่จะหาต้นไม้ที่มีคุณสมบัติครบตามนั้น อาจยังกระทำได้ด้วยการไปเยือนอุทยานแห่งชาติหรือสวนรุกขชาติในจังหวัดต่างๆ แต่ถ้าคิดจะมองหาในกรุงเทพฯ ผมเคยบอกกับตัวเองว่าน่าจะเป็นเรื่องเหลือวิสัย
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นความคิดเห็นที่ผิดพลาดก่อนที่ผมจะได้ไปเยือนโรงงานรถไฟมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพกึ่งป่าในเมืองขนาด 745 ไร่ (อ่านเรื่องราวของโรงงานรถไฟมักกะสันได้ในบทความตอนที่แล้ว) ผมได้เห็นหมู่ไม้เบญจพรรณอายุเก่าแก่ ลำต้นสูงใหญ่ใบดกเขียว ยืนต้นดาษดื่นทั่วไปหมด เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มบิ๊กทรีส์ และชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนิสิตนักศึกษาและประชาชนกว่า 50 คน ได้เข้ามาเก็บข้อมูลต้นไม้ในนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 มีการถ่ายรูป คำนวณความสูงและรัศมีทรงพุ่ม วัดเส้นรอบวงลำต้น และปักหมุดระบุพิกัดของต้นไม้ผ่านสมาร์ทโฟนลงบนระบบแผนที่ออนไลน์ยุพิน (Youpin) พัฒนาโดย Boonme Lab ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยที่เชี่ยวชาญในด้าน Data Visualization อานิสงค์ที่เกิดจากกิจกรรมครั้งนี้คือ ประเทศไทยจะได้มีฐานข้อมูลเปิดของ ‘ต้นไม้ใหญ่’ หรือ ‘ต้นไม้มรดก’ เหมือนอย่างที่เมืองนิวยอร์กหรือประเทศสิงคโปร์มีกัน
ทั้งนี้ ใครอยากดูต้นไม้ใหญ่ในโรงงานรถไฟมักกะสัน อาทิเช่น ต้นยางนาสูงที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นต้นที่ผมใช้สาธิตฝึกท่า “ขับไอโรคให้ต้นไม้” (รูปที่ 2) ก็ให้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ http://jourd-bigtrees.s3-website-ap-southeast-1.amazonaws.com/youpin.html
อ้างอิง
เขียนและเรียบเรียง
อาจารย์ ดร. สงพงษ์
Comments