ย้อนหลังไปในปี 2537 หลังจากที่อาจารย์ หยาง เผยเซิน ได้ศึกษาตำราวิชาชี่กงของหลายๆ สำนักที่มีชื่อเสียงในอดีต แล้วขะมักเขม้นฝึกฝนลึกซึ้งด้วยตนเอง จนสามารถเข้าถึงแก่นวิชาที่แท้จริงของตำราโบราณดังกล่าว กอปรกับประสบการณ์เป็นเวลาหลายปีที่สั่งสมจากการใช้แพทย์ศาสตร์จีนรักษาคนไข้จึงได้เรียบเรียงออกมาเป็นกระบวนฝึกวิชา “ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง”
การที่กระบวนฝึกนี้มีที่มาจากตำราวิชาชี่กงของหลายๆ สำนักซึ่งมีความยากง่ายในการฝึกฝนไม่เท่ากัน หลักสูตรจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มจากหลักสูตรระดับต้นสำหรับศิษย์ใหม่ป้ายแดงครั้นเมื่อฝึกฝนจนเก่งพอตัวแล้วจึงค่อยขยับมาเรียนหลักสูตรระดับกลาง ซึ่งกำหนดให้ศิษย์ต้องสอบผ่านทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สุดท้ายเมื่อเห็นว่าพร้อมแล้ว อาจารย์หยางจะทำพิธีรับเป็นศิษย์ในและอนุญาตให้ขึ้นมาเรียนหลักสูตรระดับสูง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรอื่นๆ ที่เป็นภูมิปัญญาจีน อาทิเช่น กัวซา, ครอบแก้ว, เพ็กกก (อดอาหารล้างพิษ), ไท้เก๊ก 24 กระบวนท่า, มวยเบญจลีลา ฯลฯ ให้ศิษย์เลือกเรียนได้ตามความพอใจ
ขอกล่าวถึงศิษย์อาจารย์หยางรุ่นบุกเบิกบางท่านเพื่อเป็นการสดุดดี เริ่มจากคุณวิบูลย์ วรรธกะวิกรานต์ (รุ่นที่ 1)ซึ่งจากการช่วยเหลือของท่าน ทำให้อาจารย์หยางได้เริ่มเปิดการสอนวิชา “ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง” อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 ณ ธรรมสมาคมเล่งฮั้ว ข้างวัดพระพิเรนทร์ต่อมาคุณวิบูลย์ได้เป็นประธานกรรมการผู้ก่อตั้งชมรมชี่กง กวงอิมจื้อไจ้กง (ประเทศไทย) โดยมีคุณกัลยา นุชนาฏนนท์ (รุ่นที่ 4) คุณจารุมน ธรรมรัตนะวงศ์ (รุ่นที่ 11) และคุณตง ธรรมศิริโรจน์ (รุ่นที่ 13) เป็นคณะทำงานที่เข้มแข็งของชมรมฯ สุดท้ายคือคุณสมร อริยานุชิตกุล (รุ่นที่ 7)ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ “แนวทางและวิธีดูแลสุขภาพของตนเองด้วยการฝึกวิชาชี่กง : กวงอิมจื้อไจ้กง” พิมพ์ออกจำหน่ายในปี 2543
ขณะนั้นผมกำลังทำปริญญาเอกหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผอิญไปเห็นหนังสือเล่มนี้ที่ CU BOOK ศาลาพระเกี้ยว จึงรีบซื้อมาศึกษาด้วยตนเอง พบว่ามีเนื้อหาสมบูรณ์ คำอธิบายชัดเจน ลงรูปประกอบอย่างละเอียด แต่ทว่าหลังจากอ่านและลงมือปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ก็ตระหนักว่านี่เป็นศาสตร์ที่มีความลุ่มลึก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาจารย์เจ้าของวิชามาบอก “เคล็ดลับ” ให้ แล้วเหมือนฟ้าบันดาลที่จู่ๆ ก็มีเพื่อนคนหนึ่งในสโมสรไลอ้อนส์กรุงเทพรัตนชาติ คือคุณวิชิต ลือชัยประสิทธิ์ (รุ่นที่ 41) มาถามผมว่า อยากเรียนชี่กงกับอาจารย์ที่เป็น “ของจริง” หรือไม่ แน่นอนที่ผมตอบไปว่าอยาก เพราะใฝ่ฝันในวิชานี้มาตั้งแต่เริ่มอ่านนิยายกำลังภายในตอนยังเป็นวัยรุ่น คุณวิชิตจึงพาผมมารู้จักกับอาจารย์หยางที่ธรรมสมาคมเล่งฮั้ว และได้เป็นศิษย์รุ่นที่ 51 ในปี 2546
ผมพบว่าอาจารย์หยางเป็น “ของจริง” อย่างแน่แท้สมกับที่คุณชาตรี โสภณพานิช ได้กล่าวยกย่องว่า ท่านเป็นปรัชญาเมธีผู้กระทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศาสตร์ชี่กงจนถึงแก่นของวิชา นอกจากนี้ ผมยังพบอีกว่า อาจารย์หยางเป็นผู้ที่มีความเมตตาสูง ทุ่มเทให้กับการฝึกสอนโดยไม่ปิดบัง และดูแลช่วยเหลือเพื่อให้ศิษย์ได้เป็นออกไปเป็นผู้ฝึกสอนวิชา “ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง” ให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง
เมื่อตระหนักดังนี้ ผมจึงมีความเต็มใจที่จะช่วยให้ปณิธานดังกล่าวของอาจารย์หยางประสบความสำเร็จ โดยเริ่มด้วยการเข้าไปเป็นคณะทำงานของชมรมฯรับหน้าที่สอนวิชาชี่กงแทนในวันที่ท่านติดภารกิจเป็นวิทยากรรับเชิญไปบรรยายตามสถาบันต่างๆ ตลอดจนการติดตามท่านไปออกรายการเพื่อแนะนำวิชาชี่กงทางสถานีโทรทัศน์และสตูดิโอ ฯลฯครั้นถึงปี 2549 อาจารย์หยาง ได้มอบหมายให้ผมสอนหลักสูตรระดับต้น ณ ที่ทำการแห่งใหม่ คือ อาคารกมลสุโกศล ชั้น 15 ถนนสีลม พอดีเกิดรัฐประหาร 19 กันยายนในปีนั้น จำเป็นต้องพักการใช้ธรรมสมาคมเล่งฮั้วถัดมาในปี 2550 ได้ย้ายที่ทำการอีกครั้งมาอยู่ที่อาคาร จี.พี.เฮ้าส์ ชั้น 7 ถนนทรัพย์ ที่มีคุณเฉินไซ่เจียน (ศิษย์รุ่น 61) และสามี เป็นเจ้าของ
ถึงแม้จะหนักใจว่าตนเองมีความรอบรู้ที่จำกัดในศาสตร์อันล้ำค่านี้ แต่ก็รู้สึกยินดีที่อาจารย์หยางมอบความไว้วางใจให้ จึงได้ทำหน้าที่นี้มาอย่างต่อเนื่องทุกเช้าวันเสาร์ จวบจนถึงขณะนี้คือปี 2561 นับแล้วยาวนานร่วม 12 ปี ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีความพึงพอใจ เพราะนอกจากจะได้สังคมและมีกิจกรรมให้ทำแก้เหงาแล้ว การมีโอกาสเห็นกับตาตนเองว่า ชี่กงได้ช่วยชะลอความเสื่อม ยึดเวลาชีวิตของศิษย์อาจารย์หยางคนแล้วคนเล่าจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็บังเกิดความสุขใจต่อปรากฏการณ์อันแสนมหัศจรรย์นี้อย่างอธิบายไม่ถูก
นี่จึงเป็นที่มาของปณิธานปีใหม่2561 (New Year resolution) ว่า จะเขียนบทความลงใน FACEBOOK และ LINE ของอาจารย์หยาง โดยมีเนื้อหาในลักษณะเสริม และ/หรือ ขยายความในเรื่องที่ตนเองได้บรรยายในห้องเรียนวิชา “ชี่กงกวงอิมจื้อไจกง” จึงเรียนเชิญศิษย์อาจารย์หยางทุกท่านตลอดจนบุคคลทั่วไป มาติดตามอ่านกันด้วยครับ
ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงศ์
อาจารย์ชี่กง : ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง
1 มกราคม 2561