สถานที่ที่เป็นสัปปายะ นอกจากจะมีวิตามินในอากาศที่อยู่ในรูปของน้ำมันหอมระเหยที่ขจรขจายจากแมกไม้นานาพันธุ์แล้ว วงการวิทยาศาสตร์ยังค้นพบวิตามินในอากาศอีกชนิดหนึ่งที่ผมขอเรียกว่า ‘วิตามินไอ’ ก็แล้วกันครับแต่ชื่ออย่างเป็นทางการของมันก็คือ ไอออนลบ (Negative ion) นั่นเอง
ปกติแล้ว อะตอมของก๊าซในอากาศจะมีจำนวนโปรตอน (ประจุ +) ในนิวเคลียสเท่ากับจำนวนอิเล็กตรอน(ประจุ -) ที่วิ่งวนอยู่รอบๆ ทำให้มันเป็นกลางทางไฟฟ้า แต่ถ้ามีพลังงานบางอย่างมากระทำกับอะตอมของก๊าซจนทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมา นั่นคือ อะตอมนั้นมีประจุบวกมากกว่าประจุลบ มันก็จะกลายเป็นไอออนบวก (รูปที่1)ส่วนอิเล็กตรอนที่หลุดออกมานี้ไปเกาะอยู่กับอะตอมที่อยู่ข้างเคียงทำให้ อะตอมนั้นมีประจุลบมากกว่าประจุบวก มันก็จะกลายเป็นไอออนลบ (รูปที่2)
วิตามินไอ หรือไอออนลบในอากาศ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่เราสามารถรับรู้การมีอยู่ของมันได้ เพราะยามใดที่เราได้สูดอากาศที่เต็มไปด้วยไอออนลบเข้าไปในปอด เราจะรู้สึกสดชื่น ประสาทตื่นตัว ไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอน ผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้จิตใจมีสมาธิ นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้กันว่า
ไอออนลบมีสรรพคุณในด้านลดอาการระคายคอ ไอจาม รวมทั้งอาการหอบหืด
และผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
มนุษย์รู้มานานแล้วว่าป่าไม้ ภูเขา ชายทะเล น้ำตกเป็นคลังในธรรมชาติของ
ไอออนลบตัวอย่างเช่น น้ำตกไนแอการา มีการตรวจพบว่า เป็นแหล่งกำเนิดไอออนลบตามธรรมชาติที่มีปริมาณสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากตารางที่ 1 พบว่า ไอออนลบในบริเวณน้ำตกทั่วไปมีค่าสูงถึง 5,000 pcs/cc (ตัว/อากาศหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตร)ซึ่งมากกว่าไอออนลบในบริเวณป่าไม้และน้ำพุร้อนถึงสองเท่า คำถามที่น่าสนใจก็คือ อะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้มากขนาดนี้?
ผู้ที่ให้คำตอบคือฟิลลิปป์ เลอนาร์ด (Philipp Lenard)นักฟิสิกส์ระดับรางวัลโนเบลชาวเยอรมัน ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยชื่อ Uber die Electricität der Wasserfälle (แปลว่าไฟฟ้าในน้ำตก) ออกมาในปี ค.ศ. 1892 โดยได้อธิบายว่า การที่ละอองหยดน้ำขนาดจิ๋วในน้ำตกมีการปะทะกันไปมา แรงปะทะนั้นทำให้โมเลกุลของหยดน้ำกลายเป็นไอออนบวกและด้วยน้ำหนักของตัวมัน จึงทำให้ละอองหยดน้ำเหล่านั้นไหลลงไปสู่เบื้องล่าง พร้อมกับดึงเอาไอออนบวกติดตัวไปด้วย คงเหลือแต่อิเล็กตรอนอิสระที่ลอยไปเกาะอยู่กับโมเลกุลของก๊าซต่างๆ ในอากาศ เป็นการให้กำเนิดไอออนลบจำนวนมาก โดยไม่มีไอออนบวก (ซึ่งถูกดึงไปกับละอองหยดน้ำจนหมด) มาสะเทินให้มันกลับมาเป็นโมเลกุลปกติ ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า Lenard effect
ด้วยหลักการ Lenard effect นี้เอง จึงทำให้เกิดความพยายามประดิษฐ์เครื่องผลิตไอออนลบด้วยการยิงคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราโซนิค) ไปที่น้ำ เพื่อให้โมเลกุลของมันแตกตัวออกมาเป็นไอออนลบ แต่จากรายงานระบุว่า เทคนิคนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนเครื่องฟอกอากาศที่อ้างว่าผลิตไอออนลบออกมาด้วยนั้น ไม่ได้ใช้หลักการ Lenard effect แต่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Corona discharge ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้วไฟฟ้าที่มีศักย์ไฟฟ้าสูงปล่อยประจุไฟฟ้าไปยังอากาศที่อยู่รอบๆทำให้อากาศนั้นแตกตัวเป็นไอออน รวมทั้งเกิดก๊าซโอโซนที่เป็นพิษต่อร่างกายออกมาด้วย ดังนั้น ในสมุดคู่มือการใช้งานเครื่องฟอกอากาศ จะมีคำเตือนว่า ไม่ควรเปิดเครื่องทิ้งไว้ขณะที่มีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่
สรุปคือการที่เราจะฝึกชี่กงให้ก้าวหน้าเร็ว จำเป็นต้องมี‘ตี้’ (地) ที่ดีตามการจัดสรรของธรรมชาติ ผมมักแนะนำให้ผู้เรียนชี่กงฝึกนอกสถานที่ เพราะการฝึกในบ้าน นอกจากจะต้องเจอกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเทียมจากสารพัดเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว เรายังเสี่ยงที่จะรับเอาไอออนบวกที่มีอยู่ไม่ใช่น้อยๆ ภายในบ้านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เราเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ได้
สมัยก่อน อาจารย์หยาง เผยเซินชอบพาลูกศิษย์ไปฝึกชี่กงที่พุทธมณฑล ตรงบริเวณลานด้านหน้า‘มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน’ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำด้านหลังองค์พระประธานพุทธมณฑลสถานที่แห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่มากมาย ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุพระสารีบุตรเถระ พระธาตุพระมหาโมคคัลลานะเถระ พระธาตุพระสีวลีเถระ และพระผงวัดปากน้ำ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในเจดีย์ใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง และในพระเจดีย์เก้ายอดที่อยู่รายล้อมรวมทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน จำนวน 1,418 แผ่น หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์
นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ยืนตระหง่านครึ้มอยู่โดยรอบรวมทั้งต้นที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ ไทรใหญ่ซึ่งบางคนเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีเทพารักษ์อาศัยอยู่คอยคุ้มครองพิทักษ์ปวงชนให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข
ใครที่ยังไม่มี ‘อาวาสสัปปายะ’ สำหรับฝึกชี่กงแล้วละก้อ อยากจะให้มาลองที่ ‘มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน’ แห่งนี้ดูครับ ... (จบตอนที่ 6)
3 กุมภาพันธ์ 2561
ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงศ์
อาจารย์ชี่กง - ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง