บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง ’ ตอนที่ 15: หลั่งเหงื่อขับไขมัน
- Feb 18, 2019
- 1 min read

ดร.จันทนา กุญชรรัตน์ อาจารย์คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้สวัสดีปีใหม่ผ่านทางไลน์ แล้วตามด้วยคำถามว่า “หลังจากฝึกท่ายืนอรหันต์มาเดือนกว่า รู้สึกน้ำหนักตัวลดลง ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องหรือไม่คะ?” จึงตอบท่านไปว่า “ถ้าฝึกแล้วเหงื่อออกมาก สะสมมาเดือนกว่า น้ำหนักตัวต้องลดลงครับ”
คำตอบนี้มีแหล่งที่มาจากอาจารย์หยาง เผยเซิน ซึ่งท่านได้เขียนยืนยันไว้ในหนังสือ ‘ชี่กงกายบริหารกวงอิมจื้อไจ้กงรูปแบบง่าย เล่ม 3’(รูปที่ 1)หน้า 41 ดังนี้ “...แต่มีวิธีที่จะเผาผลาญไขมันได้เร็วที่สุดคือ ท่ายืนอรหันต์(罗汉桩)ท่านี้ไม่หักโหม แต่ได้ผลในแง่การออกกำลังกายมาก สามารถทำให้ร่างกายเกิดพลังงานความร้อนในปริมาณสูง และเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้เร็วที่สุด...”

นอกจากเผาผลาญไขมันส่วนเกินแล้วท่ายืนอรหันต์นี้ยังช่วยขับไขมันออกมาพร้อมกับเหงื่อ!
ถ้าเป็นเมื่อก่อน มีใครมาบอกว่าหลั่งเหงื่อขับไขมันได้ ผมคงหัวร่อท้องคัดท้องแข็ง เพราะความรู้ดั้งเดิมสอนกันมาว่าเหงื่อเป็นน้ำกับเกลือเท่านั้น
เพื่อแก้ข้อสงสัยในประเด็นนี้ผมลองเช็คดูในกูเกิล (Google) ด้วยการป้อนข้อความ “หลั่งเหงื่อขับไขมัน” เข้าไป ข้อมูลที่ได้กลับมาค่อนข้างน่าผิดหวังเพราะทุกคำตอบสรุปเหมือนกันหมดว่า “เหงื่อไม่ได้มีไว้ขับของเสีย สารพิษ หรือไขมันใดๆ ออกมาจากร่างกายทั้งนั้น”
ผมลองอีกครั้งด้วยการป้อนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “Lipid in sweat” (Lipid หรือ ลิพิด เป็นชื่อเรียกทางเคมีของกลุ่มสารประกอบซึ่งมักพบในเนื้อเยื่อของสัตว์และพืช เช่น ไขมัน, น้ำมัน, ไข หรือ wax, ฟอสโฟลิพิด, กรดไขมัน, กลีเซอรอล,สเตอรอยด์เป็นต้น) คราวนี้เกิดอาการตาสว่าง เพราะพบบทความที่สนับสนุนว่ามีลิพิดในเหงื่อ ได้แก่ Ahmed N. Nasr (1967)1, Kanlayavattanakul และ Lourith (2011)2, และ Robyn A. Petersonและคณะ (2016)3ซึ่งล้วนสรุปตรงกันว่า ต่อมเหงื่อ Apocrine (เป็นต่อมเหงื่อชนิดหนึ่งที่กระจายตัวอยู่ตามบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ ฐานหัวนม เปลือกตา ปีกจมูก ช่องหู แผ่นหลัง ขาหนีบ หัวหน่าว ก้น บริเวณรอบๆ ทวารหนัก เป็นต้น) จะผลิตเหงื่อที่มีลักษณะข้นเหนียวและมีส่วนผสมของลิพิด, กรดไขมัน, สเตอรอยด์, โปรตีน, วิตามิน, และสาร Electrolyte อยู่มาก จึงทำให้เหงื่อชนิดนี้มีกลิ่น ในขณะที่ต่อมเหงื่อ Eccrine (เป็นต่อมเหงื่ออีกชนิดหนึ่งที่พบทั่วร่างกาย แต่จะมีอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และศีรษะ)จะขับเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำ ไม่มีกลิ่น ออกมาเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย
สุภาษิต “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” ประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่กำลังจะเล่าถัดจากนี้ ได้ให้คำตอบที่ทำให้ผมเชื่อมั่นได้อย่างสนิทใจครับ

รูปที่ 2 หลังจาก 16 ชั่วโมง กองเหงื่อจากการฝึกท่ายืนอรหันต์ยังไม่ระเหยหายไป กองเหงื่อทางขวาซึ่งหยดจากแขนขวามีขนาดใหญ่กว่ากว่ากองเหงื่อทางซ้ายซึ่งหยดจากแขนซ้าย นอกจากนี้ยังมองเห็นรอยเหงื่อจากฝ่าเท้าทั้งสองข้างอีกด้วย
ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ผมฝึกยืนอรหันต์นาน 30 นาที เหงื่อจากการฝึกเจิ่งนองบนพื้นห้องนอน ตามปกติผมจะใช้ผ้าเช็ดเหงื่อกองนี้จนเกลี้ยง แต่เผอิญตอนนั้นผมมีธุระบางอย่างต้องรีบไปทำ จึงผลัดงานเช็ดพื้นไปก่อน พอตกกลางคืนผมกลับมานอน ลืมไปเลยว่ายังไม่ได้เช็ดพื้น ครั้นถึงรุ่งเช้า พอลืมตาตื่นก็เกิดนึกถึงเหงื่อนั่น แต่คิดว่าเวลาล่วงเลยมานานกว่า 16 ชั่วโมง เหงื่อเจ้ากรรมน่าจะระเหยไปหมดแล้ว จึงรีบกวาดสายตามองไปที่พื้น อ้าว! มันยังอยู่ตรงนั้น (รูปที่ 2)
ผมลงจากเตียงมาเพ่งมองใกล้ๆ ด้วยความงุนงง พบว่ากองเหงื่อนั่นยังคงเหมือนเดิมกับที่เห็นเมื่อวาน จึงลองเอานิ้วป้ายมันขึ้นมาดู อ้าว! มันไม่ใช่น้ำ แต่มีลักษณะเป็นไขใสๆ ลื่นๆ มันๆ เพราะอย่างนี้นี่เอง มันถึงได้ไม่ระเหยหายไป ครั้นเอานิ้วขึ้นมาดมก็พบว่ามีกลิ่น ผมเลยหยิบปฏิทินมาวงวันที่ของเหตุการณ์ แล้ววางมันข้างๆ กองเหงื่อ จากนั้นก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 ภาพถ่ายระยะใกล้ เห็นกองเหงื่อมีลักษณะเหมือนน้ำ แต่เมื่อลองเอานิ้วป้ายมันขึ้นมาพิจารณาก็พบว่ามันไม่ใช่น้ำ แต่เป็นไขใสๆ ลื่นๆ มันๆ ส่วนปฏิทินที่เห็นได้วงวันที่ที่ได้บันทึกภาพนี้
กลับมาที่ ดร.จันทนา ผมแนะนำให้ท่านเปิดเว็บไซท์ https://www.qigongthai.com/contents แล้วอ่านบทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 11 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับศิษย์อาจารย์หยางทุกคนที่ผ่านการฝึกชี่กงในท่ายืนอรหันต์ (罗汉桩)...เมื่อยืนในลักษณะเช่นนี้เพียง 15 - 30 นาที กลับหลั่งเหงื่อมากมายราวกับไปจ๊อกกิ้งรอบสวนลุมพินีมาแล้วสองรอบก็ไม่ปาน” และในตอนท้ายของบทความนี้ได้เอ่ยถึงประโยชน์จากการหลั่งเหงื่อว่า “...ร่างกายก็จะสามารถขับน้ำ ของเสีย โลหะหนัก และสารพิษต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ตลอดจนกรดแลคติกและกรดไขมันอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการแก่ก่อนวัยและการเมื่อยล้า รวมทั้งไขมันใต้ผิวหนังและเกลือส่วนเกินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ออกจากร่างกายโดยผ่านต่อมเหงื่อ...”
เรื่องของเหงื่อยังไม่จบ บทความตอนหน้าจะเล่าเรื่อง ‘หลั่งเหงื่อระบายไอโรค’ ครับ
อ้างอิง
1 https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1365-2818.1967.tb01036.x
2 https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1468-2494.2011.00649.x
3 https://academic.oup.com/glycob/article/26/3/218/2355446
ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงษ์ 12 กุมภาพันธ์ 2562
--------------------------------- สอบถามหรือสมัครเรียนชี่กง โทร. 026370121, 0863785331 แอดไลน์ qg_yang หรือ qigong_yang
Comments