top of page

บทความชุด “ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561” ตอนที่ 2 เปิดเทอม


หลังจากปิดทำการที่เริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ไปจนถึงวันสิ้นปี 2560 ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เบิกชัยเปิดคอร์ส ชี่กง “กวงอิมจื้อไจ้กง” ขั้นที่ 1 รุ่นที่ 127 ออกสตาร์ทแปดโมงเช้าวันเสาร์แรกของปีใหม่ 2561 ซึ่งมีผู้สนใจมาสมัครเรียน 27 คน

อาจารย์หยาง เผยเซินเคยกล่าวแบบทีเล่นทีจริงว่า คนเรียนชี่กงมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพวกป่วยแล้วจึงมาเรียน อีกกลุ่มเป็นพวกรวยแล้วจึงมาเรียน ส่วนพวกที่อยู่กลางๆ คือ ยังไม่ป่วยและยังไม่รวย ก็จะยังไม่มาเรียน ฟังแล้วชวนให้คิดถึงวลีเด็ดในนิยายกำลังภายในที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”

ในมุมมองของแพทย์แผนจีน ความเจ็บป่วยของคนเราล้วนเป็นผลของการต่อสู้ระหว่าง “เจินชี่” (พลังแท้ในร่างกาย) กับ “เสียชี่” (พลังก่อโรค) ถ้า “เจินชี่” พร่องหรืออ่อนแอ ก็จะเปิดโอกาสให้ “เสียชี่” รุกรานเข้ามาจนทำให้ “อิน-หยาง” ของร่างกายเสียสมดุล เกิดการอุดตันของ “จิงลั่ว” (เส้นลมปราณ) ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคเสื่อมทรามลง อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติผลคือเกิดโรคในคนผู้นั้น

ดังนั้น หลักสูตรชี่กง “กวงอิมจื้อไจ้กง” ขั้นที่ 1 จะสอนกระบวนฝึกขั้นพื้นฐานให้ผู้เรียนนำไปปฏิบัติทุกวัน วันละประมาณ 30 นาที เพื่อบ่มเพาะ “เจินชี่” และสลาย “เสียชี่” ซึ่งเมื่อขยันฝึกอย่างต่อเนื่องโดยไม่ละทิ้งกลางคัน อาการป่วยก็จะค่อยๆ ทุเลา และหายขาดไปในที่สุด

ขอวกกลับมายังห้องเรียนในวันนั้น ซึ่งเริ่มต้นกิจกรรมแรกด้วยการให้ผู้เรียนแต่ละคนประกาศ ชื่อ อาชีพ และเป้าหมายที่มาเรียนให้เพื่อนๆ ร่วมชั้นทราบ ผมพบว่าการปฏิบัตินี้ นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการรู้จักมักจี่ระหว่างกันแล้ว การได้รู้ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้เรียนบางคนที่เต็มใจเอ่ยปากเล่านั้น ช่วยให้ผมพอจะประเมินได้ว่า “เสียชี่” อะไรที่กำลังบ่อนทำลายสุขภาวะของเขาอยู่

ผมพบว่า เป้าหมายของผู้มาเรียนส่วนใหญ่คือ ต้องการฝึกชี่กงเพื่อบำบัดอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นอาการที่หาคนดวงดีแบบไม่เคยโดนมันเล่นงานมาก่อนได้ยากมาก ครั้นเมื่อฝึกชี่กงแล้วหายจากอาการดังกล่าว ก็เลยเกิดการบอกต่อ จนทำให้มีคนที่มีอาการปวดหลังสมัครเข้ามาเรียนชี่กง “กวงอิมจื้อไจ้กง” อย่างไม่ขาดสาย คุณสุทธิณี ภัทรสุภฤกษ์ (ชี่กงขั้นที่ 1 รุ่น 108) จึงหยิบเอาปรากฏการณ์นี้ไปทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ผลเฉียบพลันของการฝึกชี่กง (กวงอิมจื้อไจกงขั้นที่ 1) ในผู้ที่ทำงานสำนักงานที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังแบบธรรมดา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559 โดยมี ผศ. ดร. อัครเดช ศิริพร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก, ดร. สุกัญญา เอกสกุลกล้า และตัวผม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

ในรูปขวามือ จะเห็นตำแหน่งที่ตั้งของ Psoas major (สีชมพู)โดยด้านบนเป็นจุดเกาะต้นที่ T12 (ข้อตัวล่างสุดของกระดูกสันหลังช่วงอก) และที่ L1 ถึง L5 (ข้อตัวบนสุดถึงตัวล่างสุดของกระดูกสันหลังช่วงเอว) ในขณะที่ด้านล่างเป็นจุดเกาะปลายตรงด้านบนของกระดูกต้นขา (Femur)

จากการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในครั้งนี้ ได้ผลักดันให้ผมต้องตะลุยอ่านบทความที่เกี่ยวกับอาการปวดหลังส่วนล่างที่เกิดจากความผิดปกติในกลุ่มกล้ามเนื้อแกนกลาง (Core muscles)จนมาสะดุดกับกล้ามเนื้อลึกลับมัดหนึ่งที่ถูกระบุว่า เป็นตัวการใหญ่สุดของอาการปวดหลัง ชื่อของมันคือ Psoas major (อ่านว่า โซแอส เมเจอร์)

มีนักวิจัยออกมาบอกว่าสุขภาพของกล้ามเนื้อมัดนี้มีผลต่อชีวิตของคนเราทั้งในเชิงสุขภาวะทางกายและสุขภาวะทางจิต ซึ่งเท่าที่ค้นพบแล้วในปัจจุบันเป็นเพียงส่วนปลายของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ส่วนที่อยู่ใต้น้ำยังดำรงความลึกลับที่คอยท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ จึงเหมาะสมแล้วที่มันได้รับฉายาว่า Muscle of the Soul ซึ่งผมขออนุญาตยกยอดไปเล่าต่อในบทความตอนที่ 3 ครับ

6 มกราคม 2561

bottom of page