top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 5 หายใจออก-หายใจเข้า


ในบทความตอนที่ 2 ผมได้เล่าถึงมุมมองของแพทย์แผนจีนที่ว่า“ความเจ็บป่วยของคนเราล้วนเป็นผลของการต่อสู้ระหว่าง ‘เจินชี่’ (พลังแท้ในร่างกาย) กับ ‘เสียชี่’ (พลังก่อโรค)”นั้นการแพทย์ในซีกโลกตะวันตกก็ให้การยอมรับต่อมุมมองนี้อาทิเช่น คล็อด เบร์นาร์(Claude Bernardค.ศ. 1813-1878) นักสรีรศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ในแนวคิดMilieu Interieur ของท่านว่า “ภาวะถูกพิษในตัวเอง (Autointoxication) คือศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ มันเป็นรากเหง้าแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหมดของคนเรา” เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ ท่านได้ทำการทดลองครั้งหนึ่งที่กลายมาเป็นตัวอย่างระดับคลาสสิกในเรื่องภาวะถูกพิษในตัวเอง

การทดลองดังกล่าวกระทำด้วยการนำนกตัวหนึ่งไปอยู่ในครอบแก้วที่มีอากาศสำหรับให้นกตัวนั้นหายใจได้ 3 ชั่วโมง หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง ก็เอานกตัวนั้นออกมาจากครอบแก้วในสภาพที่มันไม่แสดงความผิดปกติใดๆ จากนั้นจึงใส่นกตัวที่สองเข้าไปในครอบแก้วที่ยังมีอากาศเหลืออยู่ 1 ชั่วโมง ปรากฏว่าเจ้านกตัวหลังถึงแก่ความตายทันที ทั้งนี้เนื่องจากมันไม่มีเวลาในการปรับตัวให้ทนกับความเป็นพิษที่มีอยู่ในอากาศที่เหลืออยู่ในครอบแก้วนั้นนั่นเอง

มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ก็มีสภาพไม่ต่างไปจากนกในครอบแก้ว กล่าวคือ ตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่นิยมปรับอากาศเพื่อความสุขสบายของผู้อยู่อาศัยด้วยการติดตั้งแอร์คอนดิชั่นทำความเย็น (หรือฮีทเตอร์ทำความร้อน)แต่ทว่าข้อเสียอย่างหนึ่งของการปรับอากาศแบบนี้ก็คือ ระบบลมหมุนเวียนจะเป็นแบบปิด ซึ่งถึงแม้จะมีการแก้ไขข้อเสียนี้ด้วยการดึงอากาศสด (Fresh air) จากภายนอกเข้ามาเจือจางอากาศปิดตายภายใน แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่เช่นนี้จำต้องสูดดมอากาศ“ใช้แล้ว”อยู่ชั่วนาตาปี อาจมีบางคนพอรู้มาบ้างว่า ของเสียหลักที่ถูกขับออกมาทางลมหายใจคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่แทบจะไม่มีใครรู้เลยว่า มันยังมีสารพิษอื่นๆ ที่มีความร้ายแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต ถูกขับออกมาด้วย ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds) เช่น ไฮโดรคาร์บอน, เมธานอล, ไอโซพรีน, อาซีโตน, คีโตน, แอลกอฮอล์, น้ำฯลฯ

ผู้คนที่น่าสงสารเหล่านี้ ถึงแม้จะไม่ถึงกับเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในทันทีทันใด แต่ด้วยภาวะถูกพิษในตัวเองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมกระตุ้นให้ภาวะธำรงดุล (Homeostasis) ในตัวพวกเขาทำการชัทดาวน์ (Shut down) ซึ่งก็คือการปิดระบบที่มีความสำคัญน้อยต่อการดำรงชีพไปทีละระบบเพื่อรักษาชีวิตไม่ให้ดับสูญ เปรียบได้กับเครื่องบินลำเลียงที่บรรทุกสินค้าหนักเกินพิกัด จนต้องโยนทิ้งสินค้าบรรทุกบางส่วนที่มีมูลค้าน้อยออกไปเพื่อให้เครื่องบินยังคงลอยลำอยู่ในอากาศต่อไปได้จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมอันเต็มไปด้วยมลพิษต่างเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งถ้าอธิบายด้วยภาษาของแพทย์แผนจีน นั่นคือ เสียชี่ (ภาวะถูกพิษในตัวเอง) มีพลังมากกว่า ‘เจินชี่’ นั่นเอง

สถาบันการหายใจสากล (International Breath Institute) ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ พบว่า การหายใจออกของคนเราสามารถกำจัดสารพิษต่างๆ ในร่างกายได้ถึงร้อยละ 70จึงได้แนะนำเทคนิคการหายใจแบบมีสติ (Conscious breathing)ให้แก่ผู้คนที่มาขอรับคำปรึกษาโดยเทคนิคนี้จะประกอบด้วยการหายใจให้ลึกถึงท้อง และการรับรู้ต่อสัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่างกายซึ่งจะส่งผลให้ระบบดำรงชีพที่ปิดตัวเองมานาน ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แน่นอนที่คำแนะนำดังกล่าวของสถาบันแห่งนี้อาจอาจฟังดูแปลกใหม่ชวนให้เกิดความตื่นเต้น แต่สำหรับผู้คนที่คุ้นเคยกับการฝึกโยคะหรือชี่กงจะรู้สึกเฉยๆ เพราะความรู้ทำนองนี้มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์แห่งสำนักตนมาเป็นพันๆ ปีแล้ว

รูปที่ 2 คัมภีร์จวงจื่อ

ยกตัวอย่างเช่นในคัมภีร์ท่านจวงจื่อ (庄子พ.ศ. 174-257 ปรมาจารย์สำนักคิดปรัชญาเต๋า) บทที่ 15มีถ้อยคำว่า ‘ถู่กู้น่าซิน (吐故纳新)’ แปลว่า “ถ่มอากาศเก่าออกมา สูดอากาศใหม่เข้าไป” ซึ่งภายหลังถูกย่อลงมาเป็น ‘ถู่น่า’ อย่างเช่นที่ปรากฏในคัมภีร์ หยางเซิงหลุน (养生論)ของท่านจีคัง(嵇康 พ.ศ. 766-805 หนึ่งในเจ็ดปราชญ์สวนไผ่ยุคสามก๊กตอนปลาย ผู้ถูกสุมาเจียวหลานสุมาอี้ประหารชีวิต) ว่า“ด้วยการฝึกถู่น่าชี่เป็น (生氣) ถูกดูดซึม ชี่ตาย (死氣) ถูกขจัดเกิดการบ่มเลี้ยงชีวิตให้ยืนยาวและแข็งแรง”

ประเด็นหนึ่งที่น่าคิดคือ ทำไม‘ถู่’ (หายใจออก) มาก่อน ‘น่า’ (หายใจเข้า) คำว่าหายใจในภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า‘โคะคีว (呼吸)’ คำว่า ‘โคะ’(แปลว่าพ่น)ก็มาก่อน‘คีว’(แปลว่าสูด) คำตอบคือ ในปรัชญาลัทธิเต๋า ให้ความสำคัญต่อความว่างเปล่า เพราะในความว่างเปล่านั้น มีพลังมหาศาลที่ให้กำเนิดและกำหนดวิถีการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ว่างจึงมาก่อนเต็มเสมอถู่น่าคือประตูที่เปิดให้ ‘เสิน’เข้าสู่ความว่างเปล่า จนบรรลุสภาวะ‘อู๋จี๋’ (无极สุญญตา) พลังบำบัดในร่างกายถูกปลดปล่อยออกมาได้เต็มที่จนโรคร้ายสลายไป

สำนักเต๋าได้ทำการถ่ายทอดวิชาถู่น่าสืบเนื่องอย่างไม่ขาดสายมาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์หยาง เผยเซินก็ตระหนักถึงความสำคัญของศาสตร์แห่งการหายใจอันล้ำค่านี้ จึงได้กำหนดให้บรรจุวิชาถู่น่าไว้ในหลักสูตรชี่กง ‘กวงอิมจื้อไจ้กง’ ขั้นที่ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 รวมทั้งได้ตีพิมพ์เผยแพร่วิชานี้ลงในวารสาร ‘กวงอิมจื้อไจ้กง’ ประจำปี 2557-2558 อีกด้วย ท่านใดที่สนใจสามารถมาขออ่านวารสารนี้ได้ที่ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยางครับ

27 มกราคม 2561

ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงษ์

อาจารย์สอนชี่กง - ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง

bottom of page