top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 8 ชายผู้ให้กำเนิดคำว่า‘ชี่กง’ ในสังคมโลก

วันพฤหัสฯ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ผมได้เข้าฟังการบรรยายของอาจารย์หยาง เผยเซิน ในหลักสูตร ‘คัมภีร์ชี่กง’ และได้รับแจกเอกสารที่จั่วหัวว่า “วิชาชี่กง เปรียบดั่งสุราดีไม่กลัวตรอกลึก” โดยในย่อหน้าแรกได้เท้าความว่า“... แต่เดิม ศาสตร์วิชาชี่กง มีการเรียกขานด้วยชื่ออื่น อาทิ เต๋าอิ่น (导引), ถู่น่า (吐纳), หย่างเซิง (养生), เลี่ยนตัน (炼丹), จื่อกวน (止观), ฉันติ้ง (禅定) เป็นต้น ทว่า ทั้งหมดนี้ล้วนมีรากฐานเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ชื่อ จวบจนปัจจุบันจึงเรียกรวมกันว่า ชี่กง ...” ก็เลยอยากต่อยอดให้พิสดารในทำนอง “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”ถึงบุคคลผู้หนึ่งที่ถูกโชคชะตาพลิกผันจนกลายมาเป็น “ชายผู้ให้กำเนิดคำว่า‘ชี่กง’ ในสังคมโลก” โดยผมได้เรียบเรียงจากบทความ “The Man Who Invented ‘Qigong’ – by John Voigt” ครับ (ที่มา https://www.scribd.com/document/352449534/The-Man-Who-Invented-Qigong-1-pdf)

ในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่สงครามกลางเมืองในประเทศจีน ระหว่างขุนศึกเจียงไคเช็คกับผู้นำกระบวนการคอมมิวนิสต์จีนเหมาเจ๋อตุง กำลังโรมรันพันตูกันอย่างดุเดือดอยู่นั้น เสมียนหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้มีนามว่า หลิวกุ้ยเจิน (刘贵珍 1920-1983) ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 27 ปี ได้ขอลาป่วยเพื่อกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด คือ หมู่บ้านต้าซื่อจวง ในมณฑลเหอเป่ย์ (河北省)โรคร้ายที่เล่นงานหนุ่มหลิวจนงอมพระรามมาหลายปีแล้วในตอนนั้นก็คือ วัณโรค โรคกระเพาะอาหาร และโรคระบบประสาท ส่งผลให้ร่างกายเขาผ่ายผอมหนักเพียง 36 กิโลกรัม จนใครๆ คาดว่าเขาคงเสียชีวิตในไม่ช้า

แต่เขายังพอมีโชค เมื่อลุงของเขาคือ หลิวตู้โจว(刘渡舟) ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทรุ่นที่ห้าของสำนักพุทธเร้นลับที่มีชื่อเรียกว่า “内养功” (อ่านว่า เน่ยหย่างกง)อีกทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีน ได้ยื่นมือมาช่วยเหลือหลิวผู้เป็นหลาน

หลิวกุ้ยเจินเข้ารับการรักษาจากลุงหลิวในลักษณะที่เหมือนกับการเข้าค่ายฝึกทหารที่มีระยะเวลาในการฝึกหนึ่งร้อยวันเต็ม โดยในระหว่างนั้น หนุ่มหลิวจะต้องอยู่เพียงลำพัง ห้ามมีคนมาเข้าเยี่ยม ห้ามพูด ห้ามมีกิจกรรมทางเพศ แต่ไม่มีการอดอาหาร เพราะในตอนนั้นประเทศจีนอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง อาหารการกินยอมหามาได้ยากอยู่แล้ว แต่จะต้องดื่มน้ำต้มสุกจากกระติกน้ำร้อนในปริมาณสี่ถึงห้ากระติกทุกวัน นอกจากนี้ ยังห้ามอาบน้ำ ห้ามตัดผม ห้ามตัดเล็บมือเล็บเท้า ลุงหลิวให้เหตุผลง่ายๆ ว่าตัวเขาเองก็ถูกอาจารย์สอนมาในแบบเดียวกันนี้ นี่คือวิถีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากการกิน การนอน การขับถ่าย ตามปกติแล้ว หลิวกุ้ยเจินต้องฝึกวิชาเน่ยหย่างกงอย่างคร่ำเคร่ง ซึ่งโดยหลักๆ คือ การฝึกลมหายใจ การทำกายบริหารในกระบวนท่าต่างๆ และการบริกรรมมนตรา ถ้าเขาต้องการเปลี่ยนหรือดัดแปลงวิธีการฝึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะถูกลุงหลิวกล่าวสำทับให้ทำตามที่สั่งเท่านั้น โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น

หลังจากฝึกมา 102 วัน หลิวกุ้ยเจินก็หายป่วยและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 14 กิโลกรัม จนเขาสามารถกลับไปทำงานได้ เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ต่างพากันประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งที่เขาไม่เสียชีวิตตามที่เคยคาดเอาไว้ และเกิดความอยากรู้ว่าเขาไปทำอะไรมาถึงหายป่วยจากโรคร้าย โดยหวังว่าคำตอบที่ได้อาจช่วยให้ค้นพบวิธีการที่สามารถนำมาใช้รักษาคนอื่นๆ ได้ เพราะหลังจากทำสงครามกลางเมืองมาหลายปี จีนตกอยู่ในสภาพที่บอบช้ำสาหัสผู้คนจำนวนมากล้มป่วยหรือบาดเจ็บ แต่แพทย์มีน้อยยิ่งในอัตรา 1 คนต่อประชากร 26,000 คน

เงินเดือนอันน้อยนิดของหลิวกุ้ยเจินถูกเพิ่มเป็นข้าวสารหนึ่งกระสอบ เขาถูกส่งกลับบ้านอีกครั้งเพื่อไปเรียนรู้จากผู้เป็นลุงให้มากขึ้น ในที่สุด ลุงหลิว ก็ยอมเปิดเผยความลับสุดยอดของวิชาเน่ยหย่างกงและประโยชน์ของวิชานี้ที่มีต่อสุขภาพของคนเรา นั่นคือ ด้วยการบริกรรมมนตราซ้ำไปซ้ำมาในขณะที่ใช้จิตเฝ้าไว้ที่ตำแหน่งใต้สะดือ สมองก็จะค่อยๆ สงบลง และอวัยวะภายในมีพลังเพิ่มขึ้น การฝึกเช่นว่านี้จะบำรุงจิตและกายให้มีสภาพดี ส่งผลทำให้มีชีวิตยืนยาว หนุ่มหลิวนำข้อมูลปิดลับที่เขาได้เรียนรู้นี้กลับไปรายงานให้หัวหน้าทราบ

หมายเหตุ: ตำแหน่งใต้สะดือถูกเรียกว่า “ตันเถียน” แปลว่า “ผืนนาแร่ปรอท” โดยแร่ปรอท (Cinnabar) นั้นมีลักษณะเป็นผลึกปรอทซัลไฟท์สีแดง ถึงแม้แร่นี้มีพิษแต่ก็ถูกคนจีนโบราณนำมารับประทานเพื่อให้ตัวเองเป็นอมตะ ดังนั้น ตันเถียนในที่นี้จึงมีความหมายที่แท้จริงว่า “ตำแหน่งที่ใช้บำรุงเลี้ยงชีวิตให้ยืนยาว” ปกติแล้ว ตันเถียน ถูกกำหนดว่าอยู่ต่ำกว่าสะดือและอยู่ลึกเข้าไปในท้องน้อย แต่หลิวกุ้ยเจินมักระบุว่า ตันเถียน อยู่บนท้องน้อยตรงจุดที่ต่ำกว่าสะดือ 1.5 ชุ่น (ความกว้างของนิ้วชี้กับนิ้วกลางรวมกัน) ซึ่งตรงกับจุดฝังเข็ม CV-6 ที่ทางแพทย์แผนจีนเรียกว่า ‘ชี่ไห่’(แปลว่า ทะเลแห่งชี่)แต่มีบางครั้งที่หลิวกุ้ยเจิน กล่าวว่า ตันเถียน อยู่ข้างในท้องน้อย ไม่ใช่อยู่บนท้องน้อยอย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมันจะอยู่ตำแหน่งไหน การนำจิตไปวางไว้ที่บนท้องน้อยหรือในท้องน้อย ต่างก็ดูเหมือนว่าจะให้ผลเชิงบวก

เป้าหมายที่หลิวกุ้ยเจินได้รับมอบหมายจากหัวหน้ามาก็คือ “จะต้องรวบรวมเทคนิคการบำรุงเลี้ยงสุขภาพให้แก่ร่างกายที่ถูกเก็บงำอยู่ในราชสำนักและวงการสงฆ์จีน มาจัดทำให้เป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปทำคุณประโยชน์ในการสร้างประเทศจีนยุคใหม่แห่งความทันสมัย” ทุกคนเห็นพ้องว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสิ่งที่หลิวกุ้ยเจินได้ไปเรียนรู้มา เพราะหากนำเสนอวิชานี้ในรูปแบบดั้งเดิม ก็ไม่อาจแน่ใจว่า ประชาชนจะยอมรับหรือไม่ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงดังนี้คือ ลดเวลาฝึกจากวันละ 12 ชั่วโมงลงเหลือ 6 ชั่วโมง,แก้ไขเทคนิคการหายใจ การตั้งกระบวนท่า และการร่ายรำมวยไท้จี๋ ให้สามารถฝึกได้ง่ายขึ้น, การบริกรรมมนตราถูกเปลี่ยนเป็นคำกล่าวสามัญ ตัวอย่างเช่น มนตราของสำนักพุทธแต่เดิม คือ “กรงเล็บของพญามังกรทองผู้นั่งสมาธิอยู่ในห้องฝึกฌาน” ถูกเปลี่ยนเป็น “ข้าพเจ้าฝึกนั่งสมาธิเพื่อมีสุขภาพที่ดี” ทั้งนี้ การควบคุมลมหายใจและการเพ่งจิตที่ตันเถียนยังคงเป็นหัวใจของการฝึก

บรรดาผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ต่างพออกพอใจเป็นอย่างยิ่งต่อเทคนิคปรับปรุงใหม่นี้ ตรงที่ฝึกได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายต่ำ นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีสุขภาพดีหรือไม่ สามารถฝึกได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องการมีการใช้ยา การแพทย์ หรืออุปกรณ์พิเศษใดๆ ดังนั้น สิ่งที่เคยถูกถ่ายทอดอย่างลับๆ จากอาจารย์สู่ลูกศิษย์ ตอนนี้ได้กลับกลายมาเป็นองค์การสถาบันที่ถูกควบคุมโดยผู้ใหญ่ในรัฐบาล และเผยแพร่ให้แก่ผู้คนคราวละมากๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาใหญ่อยู่อีกประการหนึ่ง นั่นคือ ระบบสุขภาพแบบใหม่นี้ไม่อาจใช้ชื่อเดิมของมัน คือ ‘เน่ยหย่างกง’เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นอายของพุทธศาสนาที่ถูกปฏิเสธโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ไปแล้ว จึงต้องหาชื่อใหม่ที่มีนัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถสะท้อนอุดมการณ์ของเหมา-มาร์กซิส ได้เป็นอย่างดี คำในภาษาจีนโบราณก็อาจได้รับการยอมรับ แต่จะต้องเข้ากันได้กับกรอบแนวคิดแบบ “วัตถุนิยมเชิงกลไก” ดังนั้น ก่อนที่จะนำออกสู่มหาชน ชื่อใหม่นี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายการเมืองเสียก่อน… (ยังมีต่อ)

________________________________________

17กุมภาพันธ์ 2561

ดร. สมพงษ์ หาญวจนวงศ์

อาจารย์ชี่กง- ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง

สอบถามหรือสมัครเรียน 026370121 ไลน์ qg_yang

ทำการอังคาร-เสาร์ 9.00-17.00 น.

bottom of page