top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 9 ความเป็นวิทยาศาสตร์ของ‘ชี่กง’


ในตอนที่แล้ว จบลงตรงที่หลิว กุ้ยเจินชายผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘ชี่กง’ ในสังคมโลก ได้ทิ้งคำทำนายไว้ว่า “วันหนึ่ง ความเป็นวิทยาศาสตร์ของ ‘ชี่กง’ จะเป็นที่ประจักษ์” ผู้อ่านบางท่านอาจอยากทราบว่า คำทำนายอายุเกือบ 50 ปีนี้ ได้กลายเป็นความจริงแล้วหรือยัง?

เพื่อตอบคำถามนี้ เราควรเริ่มต้นวิเคราะห์คำว่า‘ชี่กง’ กันก่อนเป็นอันดับแรก โดยประเด็นที่จะสมควรจะนำมาพิจารณาก็คือ ‘ชี่กง’ มีคำนิยามอย่างไร?เป็นคำนิยามที่สะท้อนความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่?

จากดิกชันนารี Merriam-Webster (ที่มา https://www.merriam-webster.com/dictionary/qigong) ได้ให้คำนิยามแก่ ‘ชี่กง’ ว่า “เป็นศิลปะการแพทย์โบราณของคนจีนที่ประกอบด้วยการทำสมาธิ การปรับลมหายใจ และการบริหารร่างกายด้วยท่าร่างต่างๆ” ถ้ายังมีคำว่า “โบราณ”ปรากฏหราอยู่ในคำนิยามเช่นนี้ ชะตากรรมทางวิชาการของ ‘ชี่กง’ คงจะอับเฉาอยู่ในหมวดประวัติศาสตร์มากกว่าจะได้แจ้งเกิดในหมวดวิทยาศาสตร์

คำนิยามที่มีส่วนฉุดรั้งให้ ‘ชี่กง’ดำรงภาพลักษณ์ตกยุคทำนองนี้ ปรากฏอย่างดาษดื่นในหนังสือ หรือบทความตามสื่อต่างๆ แม้กระทั่งสมาคมชี่กงแห่งชาติ(National Qigong Association) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซนต์พอล มลรัฐมินนิโซตาได้ให้คำนิยามเชิงจิตวิสัย (subjective)แก่ ‘ชี่กง’ว่า “เป็นการฝึกกาย-ใจ-จิตวิญญาณ เพื่อทำให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น” (ที่มา https://www.nqa.org/what-is-qigong-)ปัญหาอยู่ที่คำว่า “จิตวิญญาณ (spirit)”เนื่องจากวิทยาศาสตร์สายตะวันตกจะมุ่งเน้นไปยังโลกแห่งวัตถุที่ใช้เครื่องมือตรวจวัดได้อะไรที่ต้องพึ่งความรู้สึกมาตรวจวัดจะถูกพิจารณาว่าอาจมีอคติเจือปน จนไม่อาจยอมรับในความเที่ยงตรง (validity)และความเชื่อมั่น (reliability)จนสามารถขยายผลสู่กลุ่มประชากรอื่นได้

อาจารย์หยาง เผยเซิน เคยปรารภถึงปัญหาภาพลักษณ์ของ ‘ชี่กง’ไว้ว่า “หลังจากมีศาสนาต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศจีนแล้ว ทฤษฎีของวิชา ‘ชี่กง’ ก็ถูกบรรจุเข้าไปเป็นหลักปฏิบัติของศาสนา เพื่อใช้เป็นวิธีบำเพ็ญตน ... จึงไม่แปลกใจเลยที่วิชา ‘ชี่กง’ไม่ได้รับการต้อนรับจากสังคมและประชาคมโลกปัจจุบันเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะวิชา‘ชี่กง’ของอดีตกาลถูกจำกัดด้วยกฎข้อบังคับของสำนักเจ้าของวิชา การฝึกจึงขาดการอธิบายหลักการและเหตุผล คนในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร จึงมองว่าวิชา‘ชี่กง’มีสีสันของความเชื่อแบบงมงายเจือปนอยู่ ...”

แล้วคำนิยามที่ “ใช่” ล่ะ มีใครบัญญัติออกมาแล้วหรือยัง? ก่อนที่จะให้คำตอบ ผมขอแนะนำให้รู้จักบุคคลสำคัญแห่งวงการวรยุทธ์จีนระดับโลกท่านหนึ่งผู้มีนามว่า ดร. หยาง จวิ้นหมิ่น (楊俊敏博士)

ดร. หยาง เกิดที่สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในปี ค.ศ. 1946 เริ่มต้นฝึกฝนมวยนกกระเรียนขาวสายวัดเส้าหลินมาตั้งแต่อายุ 15 ปี รวมทั้งฝึกการใช้อาวุธโบราณของจีน เช่น ดาบ กระบอง ทวน ฯลฯ ครั้นอายุ 28 ปี ได้ย้ายไปอยู่ในประเทศสหรัฐฯ เพื่อศึกษาทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล จนจบปริญญาเอกในสาขานี้จากมหาวิทยาลัย Purdue เคยทำงานที่ Texas Instruments ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ต่อมาได้ยุติอาชีพวิศวกรเพื่ออุทิศตนให้กับงานวิจัย งานเขียนหนังสือ และงานสอนวรยุทธ์จีน ที่สำนักของท่านในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์จากการที่ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับสังคมโลกตะวันตกมาหลายสิบปี ทำให้ท่านได้สัมผัสโดยตรงกับทัศนคติของคนอเมริกันที่มีต่อ ‘ชี่กง’รวมทั้งมองเห็นมองเห็นปัญหาบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการรับรองความเป็นวิทยาศาสตร์ของวิชาชี่กงดังต่อไปนี้

1. มีหนังสือไม่กี่เล่มที่เขียนขึ้นมาในลักษณะของการนำเสนอ‘ชี่กง’ ในเชิงวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายประสบการณ์จากการฝึก‘ชี่กง’ที่ถูกบันทึกโดยผู้คนในยุคก่อนๆ

2. มีนักวิชาการในวงการวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่เต็มใจจะเข้ามาทุ่มเทให้แก่งานค้นคว้าวิจัยในด้าน‘วิทยาศาสตร์ชี่กง (Qigong science)’ ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์น้องใหม่ในสังคมโลกตะวันตก ทำให้ขาดแคลนรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับ‘ชี่กง’ที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว

3. ผู้คนยังข้องติดอยู่กับจารีตและพิธีกรรมเชิงศาสนาที่ตนยึดถือ ทำให้ไม่สามารถเปิดใจยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม‘ชี่กง’เป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้สึกภายในตัวเราและการบ่มเลี้ยงสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณถ้าผู้คนไม่อาจก้าวข้ามธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ ของตน พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับวิทยาศาสตร์จากโลกตะวันออกที่ยั่งยืนผ่านกาลเวลามานานกว่า 4- 5 พันปีได้

4. มีนักวิชาการระดับผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์‘ชี่กง’เพียงหยิบมือที่สามารถอ่านคัมภีร์‘ชี่กง’โบราณจนสามารถเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง รวมทั้งสามารถแปลและเรียบเรียงด้วยภาษาและสำนวนของยุคปัจจุบันให้ผู้คนในศตวรรษที่ 21 เข้าใจตามได้ มีการประเมินว่า คัมภีร์‘ชี่กง’โบราณที่ถูกแปลเป็นภาษาตะวันตกแล้วนั้น ทำได้สำเร็จไม่ถึงร้อยละ 1ส่วนอีกร้อยละ 99 ที่เหลือยังคงถูกเก็บงำไว้ตามวัดวาอารามของศาสนาพุทธและเต๋าในประเทศจีน

5. มีอาจารย์‘ชี่กง’หลายรายใช้วิชา‘ชี่กง’ไปในทางมิชอบ หรือทำให้ลูกศิษย์มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อวิชา‘ชี่กง’ อาทิเช่น การอ้างอิงความเชื่อทางไสยศาสตร์การถือผีถือสาง ตลอดจนความงมงายต่างๆ รวมทั้งการสร้างความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้คนในวงการวิทยาศาสตร์เกิดความสงสัยในวิชา‘ชี่กง’

ดังนั้น เพื่อยกระดับวิชา‘ชี่กง’ ให้หลุดจากกับดัก “ศาสตร์โบราณอันทรงคุณค่า” มาสู่ภาพลักษณ์ “ความเป็นวัตถุวิสัย (objective) ทางวิทยาศาสตร์” ดร. หยาง จึงได้บัญญัติคำนิยามให้แก่ วิชา ‘ชี่กง’ว่า “เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่มุ่งศึกษาพลังงานในธรรมชาติ โดยมีความแตกต่างอย่างสำคัญจากวิทยาศาสตร์พลังงานของชาวตะวันตกตรงที่ วิชา ‘ชี่กง’ จะศึกษามุ่งเน้นไปที่พลังงานภายในตัวมนุษย์ ในขณะที่วิทยาศาสตร์พลังงานของชาวตะวันตกจะศึกษามุ่งเน้นไปที่พลังงานภายนอกตัวมนุษย์”

เมื่อได้คำนิยามที่สามารถสะท้อนพันธกิจ (mission – ความมุ่งหมายพื้นฐาน) ของวิชา ‘ชี่กง’ได้อย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว ก็พอจะมองออกว่า ผู้ที่น่าจะตอบคำถามว่า “ความเป็นวิทยาศาสตร์ของ ‘ชี่กง’ เป็นที่ประจักษ์(ต่อชาวโลก) แล้วหรือยัง?” ได้ดีที่สุดคือใคร

คำเฉลยคือ บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานเกี่ยวกับพลังงานภายในตัวมนุษย์นั่นเองโดยผมจะทยอยนำผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดเหล่านี้มาลงในบทความตอนต่อๆ ไปครับ อนึ่ง คำนิยามของ ดร.หยาง ดังกล่าว มีความเหมาะสมที่จะเอาไว้กล่าวกับคนทั่วไปที่ไม่เคยศึกษาวิชา ‘ชี่กง’มาก่อน แต่คำนิยามที่เป็นของจริงนั้น ผมเคยเขียนลงในวารสาร ‘กวงอิมจื้อไจ้กง’ ฉบับประจำปี พ.ศ. 2555 ไว้ดังนี้ “วิชา ‘ชี่กง’ คือ การฝึกเพื่อบำรุงเลี้ยงไตรรัตน์ (三宝 อ่านว่า ซานเป่า) ให้สมบูรณ์ อันประกอบด้วย (1) จิง (精) หรือ อณูธาตุ (2) ชี่ (氣) หรือ ปราณ และ (3) เสิน (神) หรือ ญาณ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้ผู้ฝึกสามารถบรรลุสู่ความเป็นพระอรหันต์ตามคติของพุทธศาสนา หรือความเป็นเซียนฟ้า (天仙 อ่านว่าเทียนเซียน) ตามคติของลัทธิเต๋า”

_____________________________________________

10 มีนาคม 2561 ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงศ์ อาจารย์ชี่กง -ศูนย์ชี่กงอาจารย์หยาง

สนใจสมัครเรียนชี่กงโทร 026370121, 0863785331 แอดไลน์ qg_yang หรือ qigong_yang เปิดสอนทุกวันเสาร์ เวลา 8.00-10.00 น.

bottom of page