top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 10 วิทยาศาสตร์กับการค้นพบเส้นลมปราณ


ในตอนที่แล้วได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้ที่น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุดว่า “ความเป็นวิทยาศาสตร์ของ ชี่กง เป็นที่ประจักษ์(ต่อชาวโลก) แล้วหรือยัง?” ก็คือนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานเกี่ยวกับพลังงานภายในตัวมนุษย์นั่นเอง ซึ่งในหนังสือชื่อ “人体使用手册” (อ่านว่า เหรินถี่สื่อย่งโส่วเช่อ) เขียนโดย吳清忠 (อ่านว่าอู๋ชิงจง) แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “เข็มทิศสุขภาพ” โดย อมร ทองสุก (รูปที่ 1) ได้บรรยายถึงผลงานอันน่าตื่นตลึงมากที่สุดของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบระบบหมุนเวียน (Circulatory System) ลึกลับที่หลบเร้นจากสายตามนุษย์มาเป็นเวลาหลายพันปี นั่นคือ เส้นลมปราณ (经络 อ่านว่า จิงลั่ว) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินของพลังงานในตัวมนุษย์ หรือ ชี่ นั่นเอง

เส้นลมปราณ เป็นทฤษฎีสำคัญที่เป็นรากฐานของศาสตร์ ชี่กง และแพทย์แผนจีนทุกแขนง ในหนังสือชื่อ “ชี่กงท่าขยับนิ้วเพื่อเสริมสุขภาพและป้องกันมะเร็ง” เขียนโดยอาจารย์หยาง เผยเซิน(รูปที่ 1 ขวามือ)บรรยายไว้ว่าเส้นลมปราณเป็นระบบโครงข่ายอันประกอบด้วยเส้นลมปราณหลักและเส้นลมปราณย่อย ที่เชื่อมโยงอวัยวะภายในกับร่างกายส่วนนอก ตัวอย่างเช่น เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร เป็นเส้นลมปราณที่เริ่มต้นจากขากรรไกรลงมาตามคอ ผ่านหน้าอก กระเพาะอาหาร ขาหนีบ ลงมาตามขา สิ้นสุดที่นิ้วเท้านิ้วที่สอง (รูปที่ 2)

ในอดีต แพทย์แผนจีนไม่สามารถพบเส้นลมปราณได้โดยวิธีทางกายวิภาคศาสตร์ อย่างเช่นในสมัยราชวงศ์ฮั่น หัวหน้ากบฏชื่อ หวังซุนชิ่ง (王孙庆) ถูกลงโทษด้วยการผ่าร่างกายทั้งเป็นเพื่อศึกษาเส้นเลือดแล้วพบว่าเส้นเลือดไม่มีความสอดคล้องกับเส้นลมปราณที่ปรากฏอยู่ในตำราแพทย์ นับเป็นการทดลองที่ล้มเหลวในการพิสูจน์การมีอยู่จริงของเส้นลมปราณวิธีผ่าพิสูจน์ร่างกายมนุษย์จึงถูกละทิ้งนับแต่นั้นมา

ครั้นถึงปี ค.ศ. 1960 นักวิทยาศาสตร์เกาหลีเหนือนาม คิมบองฮัน ประกาศว่าได้ค้นพบเส้นลมปราณแล้ว และได้ใช้ชื่อของตนมาตั้งชื่อว่า “ท่อบองฮัน” ให้กับเส้นลมปราณ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกขอให้ คิมบองฮัน แถลงผลงานวิจัย เขากลับไม่สามารถนำเสนอได้อย่างเป็นรูปธรรมตามระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้

แต่แล้ว ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก็ปรากฏบุคคลผู้หนึ่งที่สามารถค้นพบหลักฐานที่เป็นรูปธรรมบางอย่างของเส้นลมปราณ เขาผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์ เฟ่ยหลุน (费伦) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (复旦大学) เนื่องจากเขาไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นนักเคมีที่เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์โมเลกุลเขาจึงไม่ใช้วิธีทางกายวิภาคศาสตร์ด้วยการผ่าตัดอย่างที่เคยทำกันในอดีต แต่ใช้องค์ความรู้และเครื่องมือด้านฟิสิกส์โมเลกุลมาทำการศึกษาวิจัยคุณสมบัติพื้นฐานทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับโมเลกุลของเส้นลมปราณ

อู๋ชิงจง ได้เล่าไว้ในหนังสือ “เข็มทิศสุขภาพ” ว่า ทีมวิจัยเลือกที่จะศึกษาเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร โดยเริ่มขั้นตอนแรกด้วยการฝังเข็มลงตรงจุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณกระเพาะอาหารในส่วนช่วงขาของอาสาสมัคร เมื่อปลายเข็มลงลึกถึงระดับที่ถูกต้อง อาสาสมัครจะรู้สึกตึงและชา ส่วนผู้ฝังเข็มจะรู้สึกหนืดๆ ที่ปลายเข็ม จากนั้นจึงทำการตรวจวัดตำแหน่งสามมิติของปลายเข็มด้วยเครื่องสแกน MRI

ขั้นตอนที่สอง เป็นการฝังเข็มลงตรงจุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณกระเพาะอาหารของขาตัวอย่างที่ได้จากศพมนุษย์ โดยอาศัยภาพที่ได้จากเครื่องสแกน MRIในขั้นตอนแรก ซึ่งจะทำให้การฝังเข็มบนขาตัวอย่างมีความถูกต้องตรงกับที่ได้กระทำกับอาสาสมัครมาก่อนหน้านั้น ทั้งในด้านตำแหน่งและความลึกของปลายเข็ม จากนั้นจึงผ่าขาตัวอย่างเข้าไปสำรวจ ทำให้พบว่าปลายเข็มทุกเล่มล้วนหยุดอยู่ที่เอ็นเยื่อระหว่างกระดูก (Interosseous Membrane)ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง (รูปที่ 3) ที่อยู่ระหว่างกระดูกน่อง (Fibula) และกระดูกหน้าแข้ง (Tibia)

ขั้นตอนที่สาม ทีมวิจัยได้ตัดเอ็นเยื่อระหว่างกระดูกดังกล่าวไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน พบว่าตำแหน่งที่เป็นจุดฝังเข็มจะมีธาตุ 7 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส และโครเมียม มากกว่าตำแหน่งที่ไม่ใช่จุดฝังเข็มตั้งแต่ 40 ถึง 200 เท่า ปริมาณธาตุอันมากมายนี้จะกระจุกตัวอยู่ที่ตำแหน่งจุดฝังเข็มซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 5 - 8 มิลลิเมตรบนผิวของเอ็นเยื่อระหว่างกระดูกที่มีความหนาราวๆ หนึ่งไมครอนเท่านั้น

ขั้นตอนที่สี่ ทีมวิจัยได้วิเคราะห์โครงสร้างเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก พบว่ามันประกอบขึ้นจากเส้นใยคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างแบบเส้นใยจำนวน 3 สายที่พันกันเป็นเกลียวในทิศทางเวียนซ้ายและรวมเข้าด้วยกัน บิดเป็นเกลียวเหมือนขดลวดวนขวา มีลักษณะเหมือนหลอดยาวประมาณ 300 นาโนเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 นาโนเมตร(รูปที่ 5) แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ เส้นใยคอลลาเจนเป็นผลึกเหลวชีวภาพ (Bio-liquid Crystal)ที่มีคุณสมบัตินำรังสีอินฟราเรดไกล (Far Infrared Ray หรือ FIR) ในแนวนอนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่สามารถนำรังสีอินฟราเรดในแนวขวางได้เลย นี่เองที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์คล้ายกับเส้นใยแก้วนำแสง ดังนั้น จึงได้มีการตั้งสมมติฐานว่า “เส้นลมปราณเป็นทางด่วนของข้อมูลข่าวสาร” ที่อาศัยรังสี FIR เป็นคลื่นพาหะ (Carrier Wave)นำสัญญาณข้อมูลข่าวสารทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย ให้สามารถสื่อสารกับเซลล์ทั้งหมดของร่างกายในระดับความเร็วแสงนั่นเอง

ทั้งหมดนี้นับเป็นผลงานวิจัยอันน่าตื่นเต้นยิ่งนัก เพราะเป็นการค้นพบหลักฐานการมีอยู่จริงในเชิงรูปธรรมของเส้นลมปราณเป็นครั้งแรกโดบนักวิทยาศาสตร์จีน รายงานวิจัยการค้นพบในครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการจีน Chinese Science Bulletinฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 1998 รวมทั้งการที่องค์การอนามัยโลกได้เชิญทีมวิจัยไปแถลงผลงานวิจัยที่งานประชุมสัมมนาวิชาการแพทย์แผนโบราณประจำปี ค.ศ. 2000 แสดงถึงการยอมรับของประชาคมโลกในระดับหนึ่งแล้วนับแต่นี้ก็จะไม่มีใครสงสัยว่าเส้นลมปราณและจุดฝังเข็มเป็นสิ่งเลื่อนลอยอีกต่อไป

_____________________________________________________________________________________

24 มิถุนายน 2561

ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงศ์

อาจารย์สอนชี่กง

สนใจเรียนชี่กง 026370121, 0863785331

แอดไลน์ qg_yang

bottom of page