top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 12 ชี่กง 101 : ท่ายืนอรหันต์ขจัดโรคและเสริมสุขภาพ

ตัวเลข 101 ถูกนำมาใช้ในการกล่าวถึงเรื่องเบื้องต้นของการเรียนรู้เป็นครั้งแรกเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานจากเรื่องใดๆมาก่อนสามารถเรียนหรือฝึกฝนได้เลยWikipediaให้ข้อมูลว่า ในปี ค.ศ.1929มหาวิทยาลัย Buffalo เริ่มใช้ตัวเลข 101 นี้เป็นครั้งแรก เพื่อบอกว่าเป็นรายวิชาเริ่มต้นที่ไม่ต้องเรียนวิชาอื่นมาก่อน หลังจากนั้น สังคมโลกต่างนิยมนำมาใช้ในการตั้งชื่อหัวข้อเรื่องต่างๆ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นเรื่องเบื้องต้น ดังนั้น ชี่กง 101 ของสำนักชี่กงอาจารย์หยาง เผยเซิน ที่นักเรียนใหม่ทุกคนต้องเรียนรู้และฝึกฝนในชั่วโมงที่หนึ่งก็คือ การฝึกท่ายืนอรหันต์ (罗汉桩 อ่านว่า หลอฮั่นจวง) นั่นเอง

ท่ายืนอรหันต์นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนฝึกวิชา “กวงอิมจื้อไจ้กง” ซึ่งอาจารย์หยาง เผยเซิน ได้เรียบเรียงขึ้นในปี พ.ศ. 2537 และได้นำมาใช้ฝึกสอนศิษย์ของท่านตั้งแต่นั้น ครั้นถึงปี พ.ศ. 2542 ท่านได้จัดทำหนังสือ “簡易氣功”(อ่านว่า เจี่ยนอี้ชี่กง) หรือ “วิชาชี่กงรูปแบบง่าย” (ดูรูปที่ 1)ผู้จัดพิมพ์คือ “ชมรมศึกษาวิชาชี่กง กวงอิมจื้อไจ้กง (ประเทศไทย)”

ซึ่งมีอาจารย์หยาง เป็นประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และมีคุณวิบูลย์ วรรธกะวิกรานต์ เป็นประธานกรรมการชมรมฯ ในขณะนั้น โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากลูกศิษย์อาจารย์หยาง จำนวน 35 ท่าน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,500 บาท เนื้อหาในหนังสือนี้ประกอบด้วยกระบวนท่าที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ของวิชา“กวงอิมจื้อไจ้กง” โดยมีท่ายืนอรหันต์เป็นท่าประเดิมเริ่มต้นและที่น่าสังเกตก็คือ หน้าปกเป็นภาพอาจารย์หยาง (วัยหนุ่ม)ในท่ายืนอรหันต์

ในหนังสือนี้เล่าว่า ท่ายืนอรหันต์เป็นท่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นเคล็ดลับขั้นพื้นฐานของการฝึกวิชาชี่กงและอู่สู้ (武术แปลว่า วิทยายุทธ์จีน)โดยพิจารณาได้จากคำกล่าวที่ว่า “ต้องฝึกท่ายืนอรหันต์ 3 ปีก่อน จึงฝึกเพลงหมัดมวยได้” ฟังคำกล่าวนี้แล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมต้องเป็นท่ายืนอรหันต์?

ภาษิตยุทธจักรวลีหนึ่งที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างคมคาย นั่นคือ “หัดมวยไม่ฝึกพลัง ฝึกจนแก่ก็สูญเปล่า"การฝึกพลังหรือ “กงฝ่า” (功法) มักเริ่มจากการฝึกกำลังขาเรียกว่า “จั้นกง” (站功) หรือจะเรียกว่า “จั้นจวงกง” (站桩功) ก็ได้ โดยมีความหมายว่า การยืนนิ่งๆ อย่างมั่นคงเหมือนเสาที่ปักลงบนดิน เหตุที่นิยมฝึกกำลังขาก่อนคงมาจากคติยุทธจักรที่ว่า “เรียนหมัดมวยไม่เรียนจั้นกง เหมือนบ้านไร้เสาเอก” เพราะท่ายืนเป็นท่าเตรียมตัวออกท่าหมัดเท้าเข่าศอกไหล่และศีรษะได้อย่างมั่นคงและมีพลังอันหนักหน่วงรุนแรง ถ้าขาดการฝึกจั้นกง การฝึกเพลงมวยจะเป็นเพียงระบำบู๊ คือมีแต่ลีลา แต่ไร้พลัง ใช้ต่อสู้ไม่ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยปัจจุบัน การฝึกกงฝ่าตามขนบเดิมคือเพื่อการต่อสู้ จำต้องหลีกทางให้กับกระแสนิยมการฝึกกงฝ่าเพื่อสุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเอาจริงเอาจังจากรัฐบาลจีน ด้วยเหตุนี้ จั้นกงแนวบู๊อย่างเช่น ท่านั่งม้า (马步 อ่านว่า หม่าปู้ ดูรูปที่ 2) หรือท่านั่งธนู (弓步 อ่านว่า กงปู้ ดูรูปที่ 3) ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับวิชาชี่กง 101 ดังนั้น อาจารย์หยาง เผยเซินจึงนำท่ายืนอรหันต์มาปรับปรุงให้เป็นจั้นกงเพื่อสุขภาพ และตั้งชื่อเพื่อสะท้อนแนวคิดนี้ว่า “ท่ายืนอรหันต์ขจัดโรคและเสริมสุขภาพ”โดยมีเป้าหมายให้นำไปประยุกต์ใช้กับคนป่วย ผู้สูงอายุ ตลอดจนบุคคลทั่วไป

การยืนท่าอรหันต์ฯ เป็นการฝึกขาทั้งสองข้างโดยตรง ทำให้ผู้ฝึกมีขาที่แข็งแรง สามารถก้าวเดินได้อย่างมั่นคงและแคล่วคล่อง ทั้งนี้ ในมุมมองของแพทย์แผนจีน คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น อาการถดถอยของร่างกายมนุษย์จะเริ่มขึ้นที่ขา โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเกิดอาการ “หนักส่วนบน เบาส่วนล่าง” ของร่างกาย เวลาเดินจะซวนเซไปมา ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ฝึกท่ายืนอรหันต์อยู่เป็นประจำ เพราะมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันตรงกันว่า ทำให้ผู้ฝึกมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง มีการทรงตัวที่ดี ลดโอกาสที่จะหกล้มซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

นายแพทย์Atul Gawande เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “Being Mortal: Medicine and What Matters in the End” ว่า ภัยคุกคามที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุคือการหกล้ม โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการ คือการทรงตัวไม่ดี การกินยาตามใบสั่งแพทย์โดยยานั้นทำให้เกิดอาการวิงเวียน และการมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้สูงอายุที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้มีโอกาสร้อยละ 12 ที่จะหกล้มในแต่ละปี แต่ถ้ามีครบทั้ง 3 ประการ โอกาสหกล้มจะพุ่งขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 100 ในแต่ละปีมีคนอเมริกันประมาณ 350,000 คนหกล้มและสะโพกหัก ซึ่งร้อยละ 40 ของคนเหล่านั้นต้องไปพักอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ และร้อยละ 20 ของคนเหล่านั้นไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก นี่เป็นสถิติที่ชวนให้ตกใจเป็นอย่างยิ่ง

จากประสบการณ์สอนท่ายืนอรหันต์ฯมากว่า 12 ปี ทำให้ได้เห็นผู้สูงอายุหลายท่านมาเรียนหลักสูตรชี่กง กวงอิมจื้อไจ้กง ขั้นที่ 1 ในวันแรกด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแอ จำได้ว่ามีอาม่าอายุ 80 กว่าท่านหนึ่ง ถือไม้เท้าเดินกระย่องกระแย่งเข้ามาในห้องเรียน มีลูกสาวคนหนึ่งช่วยประคองอยู่ข้างๆ หลังจบช่วงบรรยายก็จะเป็นเวลาของการฝึกท่ายืนอรหันต์ ผมให้อาม่านั่งเก้าอี้ฝึกแทนที่จะยืนฝึกเหมือนนักเรียนคนอื่นๆนี่เป็นวิธีที่ผมใช้กับผู้สูงอายุมาโดยตลอด เพราะการยืนอรหันต์ถึงแม้จะปฏิบัติในท่านั่งบนเก้าอี้ แต่ถ้าผู้ฝึกมีการ “ปรับลม” และ “ปรับจิต” ที่ถูกต้อง ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวของชี่และลมหายใจอยู่ภายใน เมื่อฝึกในลักษณะเช่นนี้วันละ 15-30 นาที ติดต่อกันนานประมาณ 1 เดือน สุขภาพของผู้ฝึกจะค่อยๆ ฟื้นตัว จนกระทั่งมีพลังเพียงพอที่จะ “ปรับกาย” ด้วยการยืนฝึกได้อย่างถูกต้องในเวลาต่อมา

การเรียนในสัปดาห์ถัดมาเมื่อถึงช่วงเวลาฝึกท่ายืนอรหันต์ ผมสังเกตว่าอาม่าเริ่มยืนฝึกสลับกับการนั่งฝึก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นกับกำลังขาและความสมดุลในการทรงตัวของท่าน เมื่อการเรียนการสอนดำเนินไปจนครบ 6 สัปดาห์ของหลักสูตรฯ ผมได้เห็นประจักษ์กับสายตาตนเองว่า อาม่าเดินเข้ามาในห้องเรียนโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าและไม่ต้องให้ลูกสาวประคอง เวลาฝึกท่ายืนอรหันต์ ท่านสามารถยืนฝึกได้นาน 30 นาที โดยไม่ต้องสลับกับการนั่งฝึกเหมือนแต่ก่อน

เหตุการณ์นี้แม้จะผ่านกาลเวลามาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นภาพที่แจ่มชัดอยู่ในมโนทัศน์ของผม นอกจากอาม่ากับลูกสาวคู่นี้แล้ว ยังมีผู้สูงอายุกับลูกหลานคู่อื่นๆ อีกหลายสิบคู่ที่เข้ามาฝึกวิชาชี่กงด้วยกันในสำนักชี่กงอาจารย์หยาง และประสบผลสัมฤทธิ์อันน่าทึ่งทำนองเดียวกันนี้กลับออกไปจนทำให้ผมต้องนำมาบอกเล่าในบทความตอนนี้เพื่อแสดงความชื่นชมยินดี และขอถือโอกาสนี้ร่วมอนุโมทนาบุญอันพึงเกิดจากการที่บุตรหลานทุกท่านได้บำรุงญาติผู้ใหญ่ของตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ

05 สิงหาคม 2561 ดร. สมพงษ์ หาญวจนวงศ์ (อาจารย์สอนชี่กง)

สนใจเรียนชี่กงโทร 026370121, 0863785332 แอดไลน์ qg_yang

bottom of page