top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง ’ ตอนที่ 15: หลั่งเหงื่อขับไขมัน


ดร.จันทนา กุญชรรัตน์ อาจารย์คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้สวัสดีปีใหม่ผ่านทางไลน์ แล้วตามด้วยคำถามว่า “หลังจากฝึกท่ายืนอรหันต์มาเดือนกว่า รู้สึกน้ำหนักตัวลดลง ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องหรือไม่คะ?” จึงตอบท่านไปว่า “ถ้าฝึกแล้วเหงื่อออกมาก สะสมมาเดือนกว่า น้ำหนักตัวต้องลดลงครับ”

คำตอบนี้มีแหล่งที่มาจากอาจารย์หยาง เผยเซิน ซึ่งท่านได้เขียนยืนยันไว้ในหนังสือ ‘ชี่กงกายบริหารกวงอิมจื้อไจ้กงรูปแบบง่าย เล่ม 3’(รูปที่ 1)หน้า 41 ดังนี้ “...แต่มีวิธีที่จะเผาผลาญไขมันได้เร็วที่สุดคือ ท่ายืนอรหันต์(罗汉桩)ท่านี้ไม่หักโหม แต่ได้ผลในแง่การออกกำลังกายมาก สามารถทำให้ร่างกายเกิดพลังงานความร้อนในปริมาณสูง และเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้เร็วที่สุด...”

นอกจากเผาผลาญไขมันส่วนเกินแล้วท่ายืนอรหันต์นี้ยังช่วยขับไขมันออกมาพร้อมกับเหงื่อ!

ถ้าเป็นเมื่อก่อน มีใครมาบอกว่าหลั่งเหงื่อขับไขมันได้ ผมคงหัวร่อท้องคัดท้องแข็ง เพราะความรู้ดั้งเดิมสอนกันมาว่าเหงื่อเป็นน้ำกับเกลือเท่านั้น

เพื่อแก้ข้อสงสัยในประเด็นนี้ผมลองเช็คดูในกูเกิล (Google) ด้วยการป้อนข้อความ “หลั่งเหงื่อขับไขมัน” เข้าไป ข้อมูลที่ได้กลับมาค่อนข้างน่าผิดหวังเพราะทุกคำตอบสรุปเหมือนกันหมดว่า “เหงื่อไม่ได้มีไว้ขับของเสีย สารพิษ หรือไขมันใดๆ ออกมาจากร่างกายทั้งนั้น”

ผมลองอีกครั้งด้วยการป้อนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “Lipid in sweat” (Lipid หรือ ลิพิด เป็นชื่อเรียกทางเคมีของกลุ่มสารประกอบซึ่งมักพบในเนื้อเยื่อของสัตว์และพืช เช่น ไขมัน, น้ำมัน, ไข หรือ wax, ฟอสโฟลิพิด, กรดไขมัน, กลีเซอรอล,สเตอรอยด์เป็นต้น) คราวนี้เกิดอาการตาสว่าง เพราะพบบทความที่สนับสนุนว่ามีลิพิดในเหงื่อ ได้แก่ Ahmed N. Nasr (1967)1, Kanlayavattanakul และ Lourith (2011)2, และ Robyn A. Petersonและคณะ (2016)3ซึ่งล้วนสรุปตรงกันว่า ต่อมเหงื่อ Apocrine (เป็นต่อมเหงื่อชนิดหนึ่งที่กระจายตัวอยู่ตามบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ ฐานหัวนม เปลือกตา ปีกจมูก ช่องหู แผ่นหลัง ขาหนีบ หัวหน่าว ก้น บริเวณรอบๆ ทวารหนัก เป็นต้น) จะผลิตเหงื่อที่มีลักษณะข้นเหนียวและมีส่วนผสมของลิพิด, กรดไขมัน, สเตอรอยด์, โปรตีน, วิตามิน, และสาร Electrolyte อยู่มาก จึงทำให้เหงื่อชนิดนี้มีกลิ่น ในขณะที่ต่อมเหงื่อ Eccrine (เป็นต่อมเหงื่ออีกชนิดหนึ่งที่พบทั่วร่างกาย แต่จะมีอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และศีรษะ)จะขับเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำ ไม่มีกลิ่น ออกมาเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย

สุภาษิต “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” ประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่กำลังจะเล่าถัดจากนี้ ได้ให้คำตอบที่ทำให้ผมเชื่อมั่นได้อย่างสนิทใจครับ

รูปที่ 2 หลังจาก 16 ชั่วโมง กองเหงื่อจากการฝึกท่ายืนอรหันต์ยังไม่ระเหยหายไป กองเหงื่อทางขวาซึ่งหยดจากแขนขวามีขนาดใหญ่กว่ากว่ากองเหงื่อทางซ้ายซึ่งหยดจากแขนซ้าย นอกจากนี้ยังมองเห็นรอยเหงื่อจากฝ่าเท้าทั้งสองข้างอีกด้วย

ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ผมฝึกยืนอรหันต์นาน 30 นาที เหงื่อจากการฝึกเจิ่งนองบนพื้นห้องนอน ตามปกติผมจะใช้ผ้าเช็ดเหงื่อกองนี้จนเกลี้ยง แต่เผอิญตอนนั้นผมมีธุระบางอย่างต้องรีบไปทำ จึงผลัดงานเช็ดพื้นไปก่อน พอตกกลางคืนผมกลับมานอน ลืมไปเลยว่ายังไม่ได้เช็ดพื้น ครั้นถึงรุ่งเช้า พอลืมตาตื่นก็เกิดนึกถึงเหงื่อนั่น แต่คิดว่าเวลาล่วงเลยมานานกว่า 16 ชั่วโมง เหงื่อเจ้ากรรมน่าจะระเหยไปหมดแล้ว จึงรีบกวาดสายตามองไปที่พื้น อ้าว! มันยังอยู่ตรงนั้น (รูปที่ 2)

ผมลงจากเตียงมาเพ่งมองใกล้ๆ ด้วยความงุนงง พบว่ากองเหงื่อนั่นยังคงเหมือนเดิมกับที่เห็นเมื่อวาน จึงลองเอานิ้วป้ายมันขึ้นมาดู อ้าว! มันไม่ใช่น้ำ แต่มีลักษณะเป็นไขใสๆ ลื่นๆ มันๆ เพราะอย่างนี้นี่เอง มันถึงได้ไม่ระเหยหายไป ครั้นเอานิ้วขึ้นมาดมก็พบว่ามีกลิ่น ผมเลยหยิบปฏิทินมาวงวันที่ของเหตุการณ์ แล้ววางมันข้างๆ กองเหงื่อ จากนั้นก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 ภาพถ่ายระยะใกล้ เห็นกองเหงื่อมีลักษณะเหมือนน้ำ แต่เมื่อลองเอานิ้วป้ายมันขึ้นมาพิจารณาก็พบว่ามันไม่ใช่น้ำ แต่เป็นไขใสๆ ลื่นๆ มันๆ ส่วนปฏิทินที่เห็นได้วงวันที่ที่ได้บันทึกภาพนี้

กลับมาที่ ดร.จันทนา ผมแนะนำให้ท่านเปิดเว็บไซท์ https://www.qigongthai.com/contents แล้วอ่านบทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง 2561’ ตอนที่ 11 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับศิษย์อาจารย์หยางทุกคนที่ผ่านการฝึกชี่กงในท่ายืนอรหันต์ (罗汉桩)...เมื่อยืนในลักษณะเช่นนี้เพียง 15 - 30 นาที กลับหลั่งเหงื่อมากมายราวกับไปจ๊อกกิ้งรอบสวนลุมพินีมาแล้วสองรอบก็ไม่ปาน” และในตอนท้ายของบทความนี้ได้เอ่ยถึงประโยชน์จากการหลั่งเหงื่อว่า “...ร่างกายก็จะสามารถขับน้ำ ของเสีย โลหะหนัก และสารพิษต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ตลอดจนกรดแลคติกและกรดไขมันอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการแก่ก่อนวัยและการเมื่อยล้า รวมทั้งไขมันใต้ผิวหนังและเกลือส่วนเกินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ออกจากร่างกายโดยผ่านต่อมเหงื่อ...”

เรื่องของเหงื่อยังไม่จบ บทความตอนหน้าจะเล่าเรื่อง ‘หลั่งเหงื่อระบายไอโรค’ ครับ

อ้างอิง

1 https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1365-2818.1967.tb01036.x

2 https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1468-2494.2011.00649.x

3 https://academic.oup.com/glycob/article/26/3/218/2355446

ดร.สมพงษ์ หาญวจนวงษ์ 12 กุมภาพันธ์ 2562

--------------------------------- สอบถามหรือสมัครเรียนชี่กง โทร. 026370121, 0863785331 แอดไลน์ qg_yang หรือ qigong_yang

bottom of page