top of page

บทความชุด ‘ชี่กงกวงอิมจื้อไจ้กง ’ ตอนที่ 16 : หลั่งเหงื่อขับไอโรค

นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับที่ 210 (มกราคม 2562) ได้ลงบทความ “ไขความลับตำรายาหลวงจักรพรรดิมังกร” (รูปที่ 1) ซึ่งมีเนื้อหาที่ทำให้บรรดาคนที่กล่าวหาว่าแพทย์แผนจีนเป็นวิทยาศาสตร์เทียม(Pseudo-science) ต้องอ้าปากค้าง

บทความนี้เล่าว่า ในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มอบหมายให้นักเคมีสตรีนาม ถูโยวโยว หาวิธีรักษาโรคมาเลเรียที่คร่าชีวิตราวครึ่งหนึ่งของกองกำลังเวียดกง แต่แทนที่จะทำวิจัยเหวี่ยงแหแบบเดียวกับวงการแพทย์ชาวตะวันตกที่กำลังคิดค้นวิธีรักษาโรคเดียวกันนี้ด้วยการตรวจสอบสารประกอบกว่าสองแสนตัวซึ่งสิ้นเปลืองเวลาและทุนทรัพย์เป็นอย่างมาก เธอเลือกที่จะศึกษาตำรายาจีนโบราณจนกระทั่งพบตัวยาอาร์ทีมิซินิน (Artemisinin) ในสมุนไพรดอกสีเหลืองที่เรียกว่า โกศจุฬาลำพาจีน (รูปที่ 2) ซึ่งต่อมาได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมาเลเรียหลายล้านคน ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ. 2015

บทความนี้ยังเล่าถึงการที่ยาจีนแผนโบราณหลายร้อยสูตรมีการนำอวัยวะสัตว์อย่างเช่น น้ำมันงู ดีหมี นอแรด เขากวางเป็นต้น มาใช้เป็นเครื่องยา เป็นเหตุให้ยาจีนถูกประณามหยามหมิ่นต่างๆ นานา ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันงูที่ถูกมองว่าเป็นยาลวงโลกมาช้านาน จนเมื่อปี ค.ศ.1989 วารสาร Western Journal of Medicineได้ตีพิมพ์ผลงานของนายแพทย์ริชาร์ด คูนิน (Richard Kunin) ที่ค้นพบว่าไขมันในงูสมิงทะเลเอราบุ (China sea snake) ซึ่งเป็นเครื่องยาในตำรับยาจีนโบราณ มีกรดอีโคซะเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid-EPA เป็นกรดไขมันโอเมก้า-3 ประเภทหนึ่งที่ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซับไปใช้ประโยชน์ได้โดยทันที) สูงถึงร้อยละ 20 โดยมีสรรพคุณในการคลายกล้ามเนื้อ ลดความดันเลือด ลดระดับโคเลสเตอรอล ลดอาการอักเสบ

รูปที่ 3ดีหมี

เพิ่มการรับรู้ และช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า

อีกตัวอย่างหนึ่งที่บทความนี้นำเสนอก็คือเรื่องของดีหมี(รูปที่ 3) ซึ่งเป็นเครื่องยาสำคัญตัวหนึ่งในสูตรยารักษาสารพัดโรค ที่ปรากฏอยู่ในเภสัชตำรับ (Pharmacopoeia) เล่มแรกของโลก นั่นคือ“ซินซิวเปิ๋นเฉ่า(新修本草ค.ศ. 659 สมัยราชวงศ์ถัง)”นั้น มักได้รับการดูแคลนจากการแพทย์แผนตะวันตกว่า เป็นเรื่องเลื่อนลอยและโง่เขลา แต่แล้วในปี ค.ศ. 1902 ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีชาวสวีเดนนาม โอลอฟ แฮมมาร์สเตน (OlofHammarsten) แยกสารเคมีที่เรียกว่า กรดเออร์โซดีออกซีโคลิก (Ursodeoxycholic acid –UDCA) ออกมาจากดีหมี ซึ่งปัจจุบันใช้ในยารักษาโรคตับต่างๆ และนิ่วน้ำดี

ทุกวันนี้ การแพทย์แผนปัจจุบันไม่กล้าดูเบาการแพทย์แผนจีนที่ช่วยชีวิตผู้คนมานานนับพันปีอีกแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย กำลังวิเคราะห์แง่มุมทางวิทยาศาสตร์ของการรักษาด้วยการแพทย์แผนโบราณบางอย่าง ตัวอย่างเช่นตำรา 伤寒杂病论(อ่านว่าซังหันจ๋าปิ้งลุ่นแปลว่า “ว่าด้วยโรคไข้ตัวร้อนชนิดต่างๆ”รูปที่ 4) แต่งโดย จางจ้งจิ่ง (張仲景ค.ศ. 150-219 แพทย์จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ได้บันทึกตำรับยา 300 กว่าตำรับที่ถูกนำไปใช้ทางคลินิกอย่างได้ผลในการรักษาจริงมานานนับพันปี โดยหนึ่งในนั้นคือตำรับยา麻黄汤(อ่านว่า หมาหวงถัง) ที่มีสรรพคุณด้านการขับเหงื่อเพื่อสลายพิษส่วนนอก ทำให้ปอดโล่ง ระงับอาการหอบ เหมาะสำหรับโรคหวัดที่เกิดจากลมและความหนาวเย็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการหาคำตอบก็คือ วิธีการขับออกทางเหงื่อ (汗法 อ่านว่า ฮั่นฝ่า เป็น 1 ใน 8 วิธีการวิธีการรักษาหลักที่ใช้บ่อยโดยแพทย์แผนจีน)ทำไมรักษาโรคหวัดได้?

คำตอบต่อคำถามนี้อาจมีอยู่ในผลการศึกษาของ Birgit Schittekและคณะแห่งมหาวิทยาลัยทูบิงเงน ประเทศเยอรมันที่พบว่าในเหงื่อของมนุษย์มีเปปไทด์ (อนุพันธุ์ย่อยที่สุดของโปรตีน) ชื่อ เดิร์มซิดิน (Dermcidin)ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา1โดยกลไกการทำงานของเปปไทด์นี้จะเริ่มด้วยการดึงดูดกันระหว่างขั้วไฟฟ้าที่แตกต่างกันของเปปไทด์กับเชื้อจุลินทรีย์จนเกิดการยึดติดของเปปไทด์บนพื้นผิวเชื้อจุลินทรีย์ แล้วแทรกตัวผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของพวกมัน เข้าไปทำลายองค์ประกอบต่างๆ ภายใน เชื้อจุลินทรีย์ก็จะตายในที่สุด(รูปที่ 5)เดิร์มซิดินสามารถทำงานได้ในสภาพความเป็นกรด-ด่างในช่วงกว้างและทนต่อสภาพสารละลายที่มีเกลือในช่วงกว้างซึ่งเหมาะกับการใช้ป้องกันการบุกรุกของจุลินทรีย์ที่ผิวหนัง นั่นคือ เหงื่อสามารถลดโอกาสจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น หวัด ปอดอักเสบ วรรณโรคเป็นต้น

ผลการศึกษาของ Birgit Schittekและคณะ นับได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ไม่ชอบใช้ยาเพื่อบำบัดโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือยาปฏิชีวนะ เพราะการใช้ยาประเภทนี้อย่างไม่เหมาะสม หรือใช้นานๆ หรือพร่ำเพรื่อ จะทำให้เชื้อมีการปรับตัวและพัฒนาจนกลายมาเป็นเชื้อดื้อยาดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณ 88,000 คน เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตปีละ 20,000-38,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและจากอุบัติเหตุการขนส่ง2มีการคาดการณ์ว่า อีกไม่นานเชื้อดื้อยาจะเป็นสาเหตุหลักของการตายของมนุษย์แซงหน้ามะเร็งการกำจัดเชื้อด้วยเดิร์มซิดิน เปปไทด์ ที่หลั่งออกมาพร้อมกับเหงื่อ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

สำหรับผู้ฝึกชี่กงที่ประสงค์จะป้องกันตนเองจากการติดเชื้อหรือแม้กระทั่งเริ่มมีอาการติดเชื้อระยะแรกไปแล้ว ผมขอแนะนำให้ท่านฝึกในท่า “ขับขุ่นลดพิษ” (排浊降邪อ่านว่า ไผจั๋วเจี้ยงเสีย) ซึ่งเป็นท่าแรกของวิชา “กวงอิมจื้อไจ้กง 18 ท่าเพื่อรักษาสุขภาพ”(รูปที่ 6)

ย้อนหลังไป 16 ปีที่แล้ว ผมได้รับการสั่งสอนท่า ‘ขับขุ่นลดพิษ’ จากอาจารย์ หยาง เผยเซิน จนกระทั่งทุกวันนี้ ผมก็ยังคงฝึกท่านี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทอดทิ้ง ทั้งนี้ก็เนื่องจากผมพบว่า นี่เป็นท่าที่มีประสิทธิผลในการรักษาโรคหวัดได้ชะงัดยิ่งนักทุกครั้งที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เคืองตา เจ็บคอ มีเสมหะ น้ำมูกไหล หรือเป็นไข้ ผมจะฝึกท่านี้ทันทีประมาณ 10-15 นาที จนกระทั่งร่างกายมีเหงื่อซึมๆ ออกมา อาการที่ว่าก็จะทุเลานอกจากนี้ ผมยังค้นพบอีกว่า ถ้าเริ่มมีอาการแล้วแต่กลับผัดผ่อนไม่รีบลงมือฝึกท่านี้ ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อโรคฟักตัวในร่างกายนานขึ้น ถ้าสมมติว่าเชื้อโรคที่รับมาสามารถแบ่งตัวออกเป็นสอง (Binary Fission)ทุกๆ 20 นาที ก็เท่ากับว่าภายใน 8 ชั่วโมง เชื้อโรค 1 ตัวจะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16.78 ล้านตัว เรียกได้ว่าจากงานมดกลายเป็นงานช้างนั่นเองคราวนี้ ผมจำต้องฝึกท่า ‘ขับขุ่นลดพิษ’เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 รอบๆ ละ 15 นาที จนกว่าจะมีเหงื่อโซมกายจึงเอาอยู่ ผมจึงเปลี่ยนยุทธวิธีในการรับมือ คือแทนที่จะรอให้มีอาการแล้วค่อยฝึก ก็เปลี่ยนมาเป็นฝึกท่านี้ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ผลคือ จากเดิมที่มักเป็นหวัดทุกปีๆ ละ 2-3 ครั้ง กลายเป็นว่าโรคนี้ได้สาบสูญไปจากชีวิตแล้ว

ท่า ‘ขับขุ่นลดพิษ’ นอกจากจะช่วยรักษาโรคหวัดแล้ว ยังสามารถลดความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี ขจัดอารมณ์ขุ่นมัวทำให้จิตใจสบาย เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ-เส้นเอ็น-ข้อต่อของไหล่และแขน และทำให้ปอดแข็งแรงจากการปรับการหายใจให้ลึกและยาว ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ที่ผู้ฝึกท่า ‘ขับขุ่นลดพิษ’เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอพึงได้รับครับ

อ้างอิง

1 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1173041/

2 https://www.sanook.com/health/5605/

---------------------------------------------

สมัครเรียนชี่กงโทร 026370121

เรียนทุกวันเสาร์ 8.00-10.00 น.

ทำการวันอังคาร-เสาร์ 9.00-17.00 น.

(วันเสาร์ทำการ 8.00-17.00 น.)

bottom of page